พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการซื้อ-ขายผลผลิตการเกษตร ปีการผลิต 2565/66
10 พฤศจิกายน 2565 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการซื้อ-ขายผลผลิตการเกษตร ปีการผลิต 2565/66
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการซื้อ-ขายผลผลิตการเกษตร ปีการผลิต 2565/66 ภายใต้โครงการจัดการผลผลิตเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร และเพิ่มศักยภาพสถาบันเกษตรอย่างยั่งยืน ระหว่าง สหกรณ์การเกษตร กับผู้ประกอบการสินค้าเกษตร ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และตาก โดยมี นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายพิษณุ คล้ายเจตน์ดี ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ เขตตรวจราชการที่ 17 และ 18 นางสาวอังคณา เพียรพัฒน์ สหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก นายภูมิ เกลียวศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง สหกรณ์จังหวัด ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โรงแรมดิอิมพีเรียล โฮเต็ล แอนด์คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ขอชื่นชมการดำเนินโครงการจัดการผลผลิตเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร และเพิ่มศักยภาพสถาบันเกษตรอย่างยั่งยืน ถือว่าเป็นโครงการที่ดี และมีประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในการส่งเสริมสนับสนุนสถาบันเกษตรกรให้เกิดความมั่นคง มีความเข้มแข็ง ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงสินค้าเกษตร สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ทั้งนี้ บทบาทในการทำหน้าที่รวบรวมสินค้าเกษตร ต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่สมาชิกให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด และผู้รับซื้อ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยอาศัยกระบวนการสหกรณ์ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิก และดำเนินธุรกิจตอบสนองสมาชิกโดยส่วนใหญ่ ภายใต้การสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด และ ธ.ก.ส.ในการทำหน้าที่สนับสนุนเงินทุนและเชื่อมโยงธุรกิจให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เพื่อมุ่งยกระดับรายได้ของเกษตรกร แก้ไขปัญหาหนี้สิน ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร สร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชน สำหรับโครงการนี้ ถือเป็นตัวอย่างในการนำนโยบายของรัฐบาลมาขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ได้ทำหน้าที่ของตนเอง อย่างเต็มความสามารถและศักยภาพที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการบริหารจัดการผลผลิตการเกษตรในพื้นที่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แบ่งปันผลกำไรอย่างเป็นธรรม และช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป
ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง ได้นำนโยบายรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารด้านการฟื้นฟูพัฒนา ยกระดับสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจระดับครัวเรือน และการพัฒนาศักยภาพชุมชนแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ภายใต้ BCG Model จึงได้จัดทำโครงการ "จัดการผลผลิตเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรและเพิ่มศักยภาพสถาบันเกษตรกรอย่างยั่งยืน " เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของสินค้าเกษตรให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ภายใต้แนวคิด "แก้หนี้ แก้จน ก้าวพ้นวิกฤติ" โดย ธ.ก.ส.ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงพร้อมสนับสนุนเงินทุนตลาดห่วงโซ่ โดยอาศัยจุดแข็งด้านการเกษตรในพื้นที่ นำนโยบายรัฐบาลและธนาคารในการแก้ไขปัญหา สร้างโอกาสให้แก่เกษตรกรต้นน้ำ สถาบันเกษตรกรที่เป็นกลางน้ำและผู้ประกอบการปลายน้ำ มาจับคู่ธุรกิจในรูปแบบ Business Matching สนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรนของธนาคารและสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนการผลิต การขนส่ง สร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมจัดสรรประโยชน์เพิ่มจากโครงการให้แก่ผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เกษตรกรให้มีรายได้เพิ่ม สร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรและสมาชิก ส่งต่อสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อแปรรูป จำหน่วยตามความต้องการตลาดโลกและผู้บริโภคต่อไป ภายใต้หลักการ เท่าเทียมแบ่งปัน เป็นธรรม (CARE SHARE FAIR)
สำหรับ การจัดกิจกรรมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันในการเชื่อมโยงธุรกิจ เพื่อสร้างประโยชน์เพิ่มแก่เกษตรกรผู้ผลิตให้มีตลาดสินค้าเกษตรรองรับอย่างแน่นอน ได้รับราคาอย่างเป็นธรรม โดยมีสถาบันเกษตรกรทำหน้าที่ในการรวบรวมผลผลิต ปรับปรุงคุณภาพขนส่ง พร้อมส่งมอบผลผลิตการเกษตรให้แก่ผู้ประกอบการโรงสีข้าว ลานมันสำปะหลัง ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวโพด และยาสูบ เพื่อแปรรูปเป็นสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ โดยคำนึงถึงการออกแบบและบริหารจัดการตามศักยภาพแต่ละพื้นที่ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง หรือ Design And Management By Area ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็งเป็นที่พึ่งของเกษตรกรสมาชิกได้ ผู้ประกอบการได้ผลผลิตการเกษตรตรงตามความต้องการและปริมาณที่เพียงพอต่อกำลังการผลิตที่มีอย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป คาดว่าจะมีผลผลิตเกษตรที่ผ่านการรวบรวมในครั้งนี้ ปริมาณกว่า 5 แสนตัน และธนาคารพร้อมสนับสนุนสินเชื่อภายใต้โครงการนี้ ไม่น้อยกว่า 5 พันล้านบาท