14 กันยายน 2565 นางสาวกรนภา ชัยวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ รักษาการในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสหกรณ์ เป็นประธานร่วมกับกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น (MAFF) ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิเศษร่วมด้านการเชื่อมโยงท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น ภายใต้กรอบ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) ครั้งที่ 12
นางสาวกรนภา ชัยวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ รักษาการในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสหกรณ์ เป็นประธานร่วมกับกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น (MAFF) ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิเศษร่วมด้านการเชื่อมโยงท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น ภายใต้กรอบ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) ครั้งที่ 12 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 15 กันยายน 2565 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
โอกาสนี้ นางสาวกรนภา ชัยวัฒน์ ได้รายงานผลสำเร็จของโครงการความร่วมมือด้านวิชาการที่ผ่านมาคือ โครงการการจัดการหลังเก็บเกี่ยวและการพัฒนาฐานชุมชนสำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน (กาแฟอาราบิกา) โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จของโครงการที่ได้ยกระดับคุณภาพกาแฟของสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้พัฒนากาแฟพรีเมี่ยมจนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ประเภทกาแฟแปรรูปแบบแห้งในการประกวดกาแฟ Thailand Coffee Excellence 2022 นอกจากนี้ สมาชิกสหกรณ์ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ประเภทการแปรรูปแบบกึ่งแห้ง (Honey Process) อีกทั้งโครงการดังกล่าวยังได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประเภทรางวัลสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ประจำปี 2565
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังได้เสนอโครงการความร่วมมือใหม่เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงท้องถิ่นสู้ท้องถิ่นระหว่างกัน จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาผู้นำสหกรณ์สู่เกษตรอัจฉริยะ และโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่าอาหารและเกษตรยั่งยืน เพื่อพัฒนาบุคลากรสหกรณ์และพัฒนาการบริหารจัดการของสหกรณ์เพื่อเข้าสู่เกษตรอัจฉริยะ โดยในวันที่ 15 กันยายน 2565 นางสาวกรนภา ชัยวัฒน์ (ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ รักษาการในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสหกรณ์) ได้รายงานผลการประชุมคณะอนุกรรมการพิเศษร่วมด้านการเชื่อมโยงท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการร่วมด้านเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง ซึ่งที่ประชุมโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น ได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จของโครงการความร่วมมือที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้จากความสำเร็จของโครงการอย่างเป็นรูปธรรม
ปัจจุบันญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อการพลิกโฉมระบบการเกษตรและอาหารของโลกเพื่อให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยได้มีการนำเสนอแนวคิดและกรอบความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย ปัจจัยสำคัญ (Key Factors) 3 ประการ ได้แก่ การเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและการพัฒนาระบบอาหารที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและมีความยั่งยืน การส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะและเกษตรดิจิทัล และการส่งเสริมการทำการเกษตรที่ลดปัญหาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่าน 4 กลไก (Schemes) ได้แก่ ความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนา ความร่วมมือระดับทวิภาคี ความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งในอนาคตกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะยกระดับความร่วมมือและความสัมพันธ์กับฝ่ายญี่ปุ่น ทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรไทยในตลาดโลกด้วย