พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) แห่งราชวงศ์จักรี
1) พระราชกรณียกิจด้านการเกษตร
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 พระองค์ทรงอุทิศพระวรกายในการประกอบพระราชกรณียกิจทางด้านการเกษตร นับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เสด็จพระราชดำเนินไปยังภูมิภาคต่างๆ ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ ทุกข์สุขของราษฎรเพื่อเรียนรู้แนวทางการพระราชทานความช่วยเหลือ ทั้งการพัฒนาอาชีพ พัฒนาแหล่งน้ำ และชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร
พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อส่งเสริมด้านการเกษตรกรรมอันเป็นอาชีพหลักของปวงชนชาวไทยตลอดมา เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชพิธีพืชมงคล ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นประจำ
ในวันที่ 23 มีนาคม 2529 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำปุ๋ยหมักเป็นปฐมฤกษ์จากผักตบชวาและพืชอื่นๆ ณ บ้านแหลมสะแก ตำบลเดิมบาง อำเภอบางนางบวช นอกจากนี้ในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2529 ได้ทรงปฏิบัติการสาธิตการทำนาด้วยพระองค์เอง เมื่อพระราชทานอุปกรณ์ การทำนา พันธ์ข้าวปลูก และปุ๋ยหมักให้ข้าราชการ ผู้ใหญ่ไปดำเนินการสาธิตแล้ว ได้ทรงถอดฉลองพระบาท ถลกพระสนับเพลา ทรงพระดำเนินลุยโคลน หว่านพันธ์ข้าวปลูกและปุ๋ยหมักในแปลงนาสาธิต โดยมิได้มีกำหนดการไว้ก่อน ยังความชื่นชมโสมนัสปลาบปลื้มปิติและซาบซึ้งในพระราชจริยวัตรแก่บรรดาข้า ราชการและประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองพระบาทในพิธีการวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง
พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 เพื่อช่วยเหลือราษฎรในท้องถิ่นให้ได้มีเทคโนโลยีการเกษตรแผนใหม่ และนำมาปรับปรุงงานเกษตรกรรมของตนให้ได้ผลผลิตมากขึ้น และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในการทำนาสาธิตโดยใช้ปุ๋ยหมัก ณ ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
2) คลินิกเกษตรเคลื่อนที่
คลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและสร้างแรงจูงใจในการ กระตุ้นเศรษฐกิจการผลิตภาคการเกษตร โดยให้บริการทางวิชาการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เหมาะสม ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาการเกษตรในรูปแบบบูรณาการนักวิชาการแต่ละสาขาทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง พัฒนาที่ดิน ฯลฯ ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ 2545 จนถึงปัจจุบัน
3) โครงการเกษตรวิชญา
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ในพื้นที่สวนบ้านกองแห หมู่ที่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,350 ไร่ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดำเนินการในลักษณะคลินิกเกษตรเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริในรูปแบบของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชนเป็นศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรดิน น้ำและป่าไม้ ให้คงความสมบูรณ์ตามธรรมชาติอย่างยั่งยืน
4) พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เป็นประธานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นเวลากว่า 10 ปี ทรงเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2560 จนถึงปัจจุบันเพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบรมชนกนาถสืบไป
5) โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานสืบสาน รักษา ต่อยอด จึงทรงได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำที่ดินในโครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้ง 30 ฟาร์มภายใน 17 จังหวัดจากจำนวน 61 ฟาร์มทั่วประเทศ มาใช้สนับสนุนการจ้างงานภายใต้ “โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19” โดยได้น้อมนำโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้ฟาร์มตัวอย่างเป็นแหล่งสร้างอาหารที่ปลอดภัย สร้างรายได้ สร้างเป็นอาชีพได้อย่างยั่งยืนโดยประชาชนไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานของตนเอง และเพื่อเป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่ยั่งยืนตลอดไป
6) โคกหนองนา โมเดล
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีบวงสรวงพื้นที่โคก หนอง นา ณ บริเวณพระตำหนักเรือนต้น พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต และการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเรื่อง “อารยเกษตร” เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ความว่า “โคกหนองนา นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรมแล้วยังเป็นศิลปะ เป็นแบบฝึกหัดที่ดี ในการที่จะรวมเกษตรที่หลากหลายให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกันในเวลาเดียวกัน รักษาความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้น ก็เกื้อกูลซึ่งกันและกัน
7) โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง พระราชดำริ ร.๑๐ พลิกชีวิตชาวค้อเหนือ
“โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร” ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เป็นหนึ่งในหลายโครงการพระราชดำริที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงห่วงใยพสกนิกร และพระราชทานพระราชดำริในการแก้ปัญหาด้านเกษตรกรรมของพสกนิกรที่ประสบปัญหาน้ำท่วมไร่นาซ้ำซากในฤดูฝน และแล้งสุดขีดเมื่อสิ้นฤดู
ความเป็นมาของโครงการย้อนไปเมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อทรงเยี่ยมพสกนิกรผู้ประสบอุทกภัยซ้ำซาก ณ โรงเรียนบ้านคำน้ำสร้าง ต.ค้อเหนือ อ.เมืองยโสธร จ.ยโสธร เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2543
ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบว่าปัญหาในพื้นที่ตำบลค้อเหนือเกิดจากลักษณะทางกายภาพของพื้นที่เป็นที่ราบถึงลูกคลื่นลอนลาด
อีกทั้งเป็นที่สบกันของแม่น้ำชีและลำน้ำยัง เป็นพื้นที่ทางน้ำไหลตะกอนน้ำหลาก ทำให้น้ำไหลท่วมที่อยู่อาศัย เส้นทางคมนาคม สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกในฤดูน้ำหลาก และบริเวณหนองอึ่งที่เป็นจุดรับน้ำก็มีตะกอนน้ำหลากมาสะสม ทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้เพียงพอ เมื่อหมดฤดูน้ำหลากจึงเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร
จากปัญหาที่ทรงพบเห็น พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่โดยรวม ดังนี้ 1.พัฒนาขุดลอกหนองอึ่งเพื่อเป็นแหล่งน้ำทำการเกษตรและขยายพันธุ์ปลา 2.พัฒนาปรับปรุงพื้นที่ สภาพดินรอบหนองอึ่ง โดยปลูกต้นไม้และหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน 3.ฟื้นฟูสภาพป่ารอบหนองอึ่ง เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูลกัน
โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร เริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ. 2544 ขอบเขตพื้นที่โครงการ 43.9 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ 15 หมู่บ้านในตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร รวมจำนวนประชากร 2,036 ครัวเรือน 7,767 คน ซึ่งมี “ป่าชุมชนดงมัน 3,006 ไร่” เป็นพื้นที่ส่วนสำคัญในพื้นที่โครงการ
เป้าหมายการดำเนินการแรกคือการขุดลอกคูคลองหนองอึ่ง เพื่อให้เก็บสะสมน้ำได้มากขึ้น ให้ประชาชนมีน้ำใช้ การขุดลอกหนองอึ่งเร่งดำเนินการจนแล้วเสร็จสิ้นในปี 2545 โดยความจุหนองอึ่งเพิ่มเป็น 640,530 ลูกบาศก์เมตร กินพื้นที่ 430 ไร่ บริเวณคันดินรอบหนองมีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน เมื่อขุดลอกหนองอึ่ง
เสร็จมีการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำเพื่อเปิดรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝนมาเก็บไว้ให้ประชาชนใช้ในช่วงแล้งหรือเมื่อฝนทิ้งช่วง
การพัฒนาพื้นที่เรื่องน้ำดำเนินการไปพร้อมกับเรื่องป่า สืบเนื่องจากประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำหลากน้ำแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำกิน ชาวบ้านจึงทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด รวมถึงการบุกรุกถางป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ทำกินและนำไม้มาใช้สอย ทำให้ป่าในพื้นที่เสื่อมโทรมกว่า 1,000 ไร่
ปี 2544 สำนักงานป่าไม้จังหวัดยโสธรเข้าไปดำเนินการพื้นฟูให้ป่าดงมัน เพื่อสนองพระราชดำริ “ฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูล” มีการทำประชาคมใน 7 หมู่บ้านรอบโครงการ ขอคืนพื้นที่ป่า
เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟู ซึ่งประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดี เพื่อพัฒนาร่วมกันเป็นป่าชุมชนที่ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และก่อตั้ง “ป่าชุมชนดงมัน 3,006 ไร่”
หลังจากได้พื้นที่ป่าดงมันคืน กรมป่าไม้ได้ฟื้นฟูสภาพป่าตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” โดยปลูกพันธุ์ไม้ยางนา พะยอม และสังเกตจนค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างพันธุ์ไม้วงศ์ยางที่มักอยู่ร่วมกับเชื้อเห็ดป่า (ไมคอร์ไรซา) ซึ่งต่อมาถูกพัฒนาเป็นแนวคิดเพาะชำกล้าไม้วงศ์ยางที่ติดเชื้อเห็ดป่า ทำให้ต้นไม้มีคุณสมบัติทนความแห้งแล้ง เติบโตได้ดีในพื้นที่วิกฤตเพื่อเป็นแหล่งอาหารสำหรับชุมชน
ในขณะเดียวกัน มีการนำดินที่ขุดลอกหนองอึ่งขึ้นมาปรับสภาพบริเวณรอบหนองอึ่งจำนวน 100 ไร่ แล้วจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านที่เคยบุกรุกป่าได้ทำกินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีผู้ได้รับประโยชน์ 120 ราย
จากนั้นป่าชุมชนดงมันจึงค่อย ๆ ฟื้นฟูตัวเองและกลับมาอุดมสมบูรณ์ และเป็นพื้นที่สร้างรายได้ให้ชุมชน จากการเก็บหาของป่าเป็นอาหารและนำไปขาย โดยปัจจุบันชาวบ้านมีรายได้จากการขายของป่ารวมปีละ 3 ล้านบาท
นายสมศักดิ์ ทวินันท์ หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธรเล่าว่า เมื่อฟื้นฟูสภาพป่าดงมันกลับมา ปริมาณสัตว์ป่าและของป่าในป่าชุมชนดงมันเพิ่มขึ้นมาก เช่น ไก่ป่า หมาจิ้งจอก เห็ดโคน แม่เป้ง ไข่มดแดง ตั๊กแตน เห็ดระโงก เห็ดตะไค เห็ดเผาะ เป็นต้น ปัจจุบัน “ป่าชุมชนดงมัน 3,006 ไร่” เป็นธนาคารอาหารของชาวบ้าน 15 หมู่บ้าน 2,000 กว่าครัวเรือน โดยทุกคนสามารถเข้าไปหาของป่าภายใต้การดูแลของส่วนการบริหารงานที่เป็นกรรมการจากแต่ละหมู่บ้านที่บริหารจัดการร่วมกัน
หลังจากพัฒนาปรับปรุงพื้นที่และฟื้นฟูป่าแล้ว ในพื้นที่มีผลผลิตการเกษตรและมีของป่าจำนวนมาก จึงมีการพัฒนาต่อยอดแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้เก็บได้นานและเป็นการเพิ่มมูลค่า เช่น เห็ดโคนในน้ำเกลือ เห็ดเผาะในน้ำเกลือ ไข่มดแดงในน้ำเกลือ น้ำพริกเห็ดระโงก ซึ่งปัจจุบันมีชาวบ้านราว 70 รายรวมตัวกันตั้งสหกรณ์การเกษตร ในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำกัด แปรรูปผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อแบรนด์ “วนาทิพย์” มีรายได้ปีละล้านกว่าบาท
นางพา นาขุมเหล็ก สมาชิกสหกรณ์การเกษตรในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำกัดบอกว่า ในช่วงหน้าฝนเธอเข้าไปเก็บเห็ดในป่าชุมชนออกมาขายได้วันละประมาณ 3,000 บาท
หลังจากนั้น ช่วงสายเธอทำงานล้างเห็ดที่สหกรณ์ ซึ่งทำมา 4-5 ปีแล้ว ในช่วงแรกก่อตั้งสหกรณ์ ตัวเธอไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก แต่เมื่อเห็นว่ารายได้ดีจึงเข้ามาทำ และปัจจุบันทำเป็นอาชีพหลักไปแล้ว
จากปัญหาที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเล็งเห็นความสำคัญ นำมาสู่การแก้ไขปัญหาทีละขั้นตอน ปรับปรุงพื้นที่ ฟื้นฟูสภาพป่า จนต่อยอดเกิดอาชีพและสร้างรายได้ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ เป็นการพลิกฟื้นชีวิตพสกนิกรของพระองค์ ซึ่งถือเป็นความโชคดีของชาวตำบลค้อเหนืออย่างแท้จริง
อ้างอิงข้อมูลจาก : สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) , บริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จํากัด และ ประชาชาติธุรกิจ (ข่าวในพระราชสำนัก)