คณะศึกษาดูงานโครงการเปิดวิสัยทัศน์ผู้จัดการสหกรณ์เพื่อพัฒนาสหกรณ์สู่ความเข้มแข็งต้นแบบ นำโดย นายสันทาน สีสา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ได้เข้าศึกษาดูงาน เป็นวันที่ 5 (วันสุดท้าย)
18 กรกฎาคม 2568 คณะศึกษาดูงานโครงการเปิดวิสัยทัศน์ผู้จัดการสหกรณ์เพื่อพัฒนาสหกรณ์สู่ความเข้มแข็งต้นแบบ นำโดย นายสันทาน สีสา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ได้เข้าศึกษาดูงาน เป็นวันที่ 5 (วันสุดท้าย) ณ JA Zenchu กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีผู้แทนกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง และ Mr.Kobayashi Yasuyuki ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศของสหกรณ์ ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งกล่าวชี้แจงว่า ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหากับการลดลงของเกษตรกรเนื่องจากการก้าวสู่ช่วงวัยชราและไม่มีผู้ทดแทน ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนส่งผลต่อผลผลิตสินค้าเกษตรภายในประเทศ (อุณภูมิเพิ่มสูงขึ้น, ฝนตกหนัก, ลูกเห็บและหิมะที่รุนแรง, ต้นทุนที่สูงขึ้น) การส่งเสริมสหกรณ์ได้ใช้แนวความคิดคือ
1. มุ่งมั่นฟื้นฟูระบบเกษตรกรรมด้วยการพัฒนาบุคลากรของสหกรณ์ ทางด้านทักษะและความรู้ พร้อมที่จะให้คำแนะนำทางด้านการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่แก่เกษตรกรสมาชิก เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาด
2. สร้างระบบเพื่อความมั่นคงทางด้านผลผลิต ด้วยการนำระบบดิจิทัลและเครื่องจักรที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ง่าย
3. การรับรองความปลอดภัยทางด้านอาหารและการตรวจสอบย้อนกลับแบบดิจิทัล (ตั้งแต่ต้นกล้าจนถึงการขนส่งสู่ลูกค้า) เช่น การสร้างระบบตรวจสอบ GAP ด้วยตัวสมาชิกเอง หรือการสร้างระบบการจัดเก็บข้อมูลจากแหล่งผลิตโดยเกษตรกรสามารถบันทึกข้อมูลวิธีการผลิตและปริมาณผลผลิตผ่านแอปพลิเคชั่น Agri Hup ที่ใช้ง่ายบนมือถือ ที่จะช่วยให้ทราบถึงปริมาณความต้องการใช้ปัจจัยการผลิตและทราบถึงผลผลิตทั้งหมดในแต่ละช่วงฤดูกาลที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาด
4. การบริหารความเสี่ยงสำหรับผู้ผลิตและสินค้าเกษตร
5. การมีมาตรการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการแก่สมาชิก เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
6. การส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
7. ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของสมาชิก โดยการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของสหกรณ์ เช่น การพัฒนาทักษะการทำธุรกิจเกษตร การทำฟาร์มปศุสัตว์ การบริหารจัดการต้นทุนการผลิต รวมถึงการพัฒนาเกษตรกรยุคใหม่
8. การสนับสนุนโครงการพัฒนาสู่ความยั่งยืนต่อท้องถิ่น เช่น สนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยพืชสดที่ผ่านการวิจัยและทดสอบให้เหมาะสมกับดินในแต่ละพื้นที่) และสารอินทรีย์ในการป้องกันโรค สามารถลดการใช่ปุ๋ยเคมีและสารเคมีถึง 40 %
ในช่วงที่สอง คณะดูงานได้ร่วมรับฟังแนวคิด และวิธีการพัฒนาสหกรณ์ในประเทศไทย โดยMr.Kuramochi Shinsaku เชี่ยวชาญด้านกาแฟแห่งประเทศญี่ปุ่นจาก JICA (เป็นผู้มีประสบการณ์ในการพัฒนาระบบการผลิตกาแฟในประเทศญี่ปุ่น) โดยได้เข้ามาศึกษาและร่วมพัฒนาสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยกระดับการแปรรูปผลผลิตกาแฟในพื้นที่ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป และบรรจุภัณฑ์ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน โดยใช้เวลาในการพัฒนาถึง 2 ปี ซึ่งในช่วงแรกได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกกาแฟของสมาชิก คุณภาพผลผลิตสหกรณ์รวบรวม กระบวนการแปรรูปเพื่อขาย และพบว่า สหกรณ์มีการรวบรวมกาแฟกะลาจากสมาชิกที่ไม่ได้คุณภาพ และขาดอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการแปรรูปเพื่อจำหน่าย จึงได้ร่วมกับผู้แทนสหกรณ์และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินการ ดังนี้
1. ขอรับการสนับสนุนอุปกรณ์การตลาดจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ในการผลิตกาแฟให้ได้คุณภาพ
2. ปรับเปลี่ยนวิธีการรวบรวมผลผลิตของสหกรณ์จากการรับซื้อกาแฟกะลามาเป็นการรับซื้อกาแฟเชอร์รี่ เพื่อทดสอบระดับความสุกตามจำนวนวันของการตาก และปรับปรุงวิธีการหมักเมล็ดการแฟให้ได้กลิ่นและรสสัมผัสที่ได้มาตรฐานเพื่อผลักดันสู่ Specialty Coffee ที่มีราคาสูงถึง 3,300 บาทต่อกิโลกรัม ที่ขึ้นอยู่กับกลิ่นและรสสัมผัส
3. การพัฒนาเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ให้สามารถเลือกซื้อกาแฟเชอร์รี่ และแปรรูปผลผลิตกาแฟได้อย่างมีคุณภาพ เจ้าหน้าสหกรณ์ผ่านการรับรองจากนานาชาติ 1 ราย และเป็นกำลังหลักในการช่วยฝึกสอนสมาชิกและเจ้าหน้าที่สหกรณ์ต่อไป
4. การขยายผลไปยังพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ เช่น การแนะนำฟาร์ม การฝึกอบรมการแปรรูปกาแฟ การฝึกคั่วกาแฟ การกำหนดกลยุทธ์การตลาด
นอกจากนี้ ผู้เข้าอบรมได้ร่วมถอดบทเรียนที่ได้รับจากการดูงาน และแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาสหกรณ์จากผู้แทน IDACA เพื่อนำมาปรับปรุงแผนงานต่อไป