รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงและจัดทำแผนการเชื่อมโยงเครือข่ายการท่องเที่ยว ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่ ...
22 พฤษภาคม 2568 นายประวัติ แดงบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงและจัดทำแผนการเชื่อมโยงเครือข่ายการท่องเที่ยว ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมี นายธนรัฐ โคจรานนท์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาสหกรณ์ด้านการเงินและร้านค้า นางสาวสุวรรณจันทร์ แก่งสันเทียะ สหกรณ์จังหวัดสมุทรสงคราม และผู้ร่วมอบรม ร่วมพิธีเปิด ณ โรงแรมอัมพวาน่านอน อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
รองอธิบดีฯ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบาย “Ignite Tourism Thailand” เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ตลาดโลก และก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ตระหนักถึงศักยภาพของสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ซึ่งมีอยู่ในหลากหลายพื้นที่ และเห็นว่า สหกรณ์สามารถเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงสินค้าและบริการเหล่านี้ เข้ากับภาคการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จึงเป็นโอกาสอันดีในการสร้างจุดขายใหม่ ๆ ให้กับชุมชน เสริมสร้างรายได้ และขยายโอกาสทางเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาและยกระดับสินค้าและบริการของสหกรณ์ให้สามารถเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้จุดแข็งของอัตลักษณ์แต่ละจังหวัดควบคู่ไปกับการนำเสนอศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ เปิดโอกาสในการจำหน่ายสู่ตลาดนักท่องเที่ยว และกระจายรายได้สู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน
สำหรับโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงและจัดทำแผนการเชื่อมโยงเครือข่ายการท่องเที่ยว ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 23 พฤษภาคม 2568 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สหกรณ์สามารถจัดทำแผนเชื่อมโยงเครือข่ายการท่องเที่ยวได้ และพัฒนาองค์ความรู้ในการเชื่อมโยงสินค้าหรือบริการเชิงอัตลักษณ์พื้นถิ่นของสหกรณ์เข้ากับการท่องเที่ยว รวมทั้งเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ระหว่างสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพในสังกัดสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร โดยกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้แทนสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพในสังกัดสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร (สหกรณ์การเกษตร 15 แห่ง และสหกรณ์บริการ 7 แห่ง) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากสำนักงานสหกรณ์จังหวัด ผู้สังเกตการณ์ วิทยากร และเจ้าหน้าที่โครงการฯ รวมทั้งสิ้น 90 คน