นางสาวอนงค์นาถ จ่าแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์ และ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) เพื่อใช้ข้ ...
7 พฤษภาคม 2568 นางสาวอนงค์นาถ จ่าแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์ และ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) เพื่อใช้ข้อมูลเครดิตมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินสำหรับสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยมี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์ เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
สำหรับการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้อมูล รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการและตัดสินใจ โดยข้อมูลของสมาชิกสหกรณ์ที่นำมาใช้ประโยชน์จะเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับบริษัทข้อมูลเครดิตในการประมวลผลข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ประกอบด้วย ชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน และวันที่เข้าร่วมโครงการฯ ภายใต้เงื่อนไขไม่ก่อหนี้เพิ่ม เพื่อให้สถาบันการเงินอื่นตระหนักในการพิจารณาให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่สมาชิกรายดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการช่วยให้สมาชิกมีวินัยทางการเงินและส่งผลให้การบริหารสินเชื่อของสหกรณ์มีความเหมาะสมและยั่งยืน อย่างไรก็ตาม หากสมาชิกดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินเรียบร้อยแล้ว สามารถดำเนินการยกเลิกเงื่อนไขไม่ก่อหนี้เพิ่มได้ ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์จะนำส่งข้อมูลวันที่สมาชิกออกจากโครงการเพื่อให้บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ออกประกาศ เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ และมีหนังสือขอความร่วมมือให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่งลดดอกเบี้ยเงินกู้แก่สมาชิก โดยสหกรณ์ออมทรัพย์หลายแห่งได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิก ตามแนวทางที่กรมส่งเสริมสหกรณ์เสนอ รวมถึงมาตรการรวมหนี้ของสมาชิกจากสถาบันการเงินอื่นมาไว้ที่สหกรณ์โดยมีเงื่อนไขว่าสมาชิกจะไม่ก่อหนี้เพิ่ม ทั้งนี้ กรมฯ เล็งเห็นว่าการใช้เครื่องมือที่จะช่วยสร้างวินัยทางการเงินให้กับสมาชิก นับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้สมาชิกรู้จักวางแผนการใช้จ่าย รู้จักประเมินความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของตนเองได้ อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สอดคล้องไปกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของประเทศให้หมดไป