ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสหกรณ์ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย ในฐานะผู้แทนหลัก(Focal Point) ASWGAC ของประเทศไทย ในการประชุมคณะทำงานอาเซียนด้านสหกรณ์การเกษตร (The ASEAN Sectoral Working Group on Agricultural Cooper ...
วันที่ 28 สิงหาคม 2567 นางสาวกรนภา ชัยวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสหกรณ์ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย ในฐานะผู้แทนหลัก(Focal Point) ASWGAC ของประเทศไทย ในการประชุมคณะทำงานอาเซียนด้านสหกรณ์การเกษตร (The ASEAN Sectoral Working Group on Agricultural Cooperatives : ASWGAC) ครั้งที่ 25 โดยบรูไนดารุสซาลามเป็นเจ้าภาพการประชุมผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ เข้าร่วมประชุม ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม รวมถึงผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน สำนักเลขาธิการ ACEDAC และองค์กรด้านการพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง โดยมีนางสาวอุบลวรรณ พัฒนลาภ ผู้เขี่ยวชาญด้านการพัฒนาสหกรณ์ นางสาวเจษฎาภรณ์ สถาปัตยานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิเทศสัมพันธ์ กองแผนงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพมหานคร
ในการนี้ ผู้แทนกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้นำเสนอข้อมูลนโยบายและแนวทางด้านส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์การเกษตรในประเทศไทย ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้ความสำคัญกับความมุ่งมั่นปฏิบัติงานตามวิสัยทัศน์ที่ว่า ส่งเสริม พัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง มั่นคงและยั่งยืน โดยเป็นองค์กรที่มีผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศ มีผลสัมฤทธิ์สูง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการธุรกิจสหกรณ์และการเผยแพร่ความรู้ให้แก่สหกรณ์ มีการกำกับดูแลสหกรณ์โดยใช้หลักธรรมาภิบาล ควบคู่ไปกับการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และได้ยกตัวอย่างของสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูนจำกัด ถือเป็นตัวอย่างของสหกรณ์ที่มีการพัฒนาและมีเป้าหมายการดำเนินงานที่เข้มแข็งจนประสบผลสำเร็จ โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ (Smart Chicken Farm) มีการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐานเป็นระบบอัตโนมัติ ทั้งในเรื่องของการให้อาหาร การลำเลียงมูลไก่ และการลำเลียงไข่ออกมาจากโรงเรือน ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน และเพิ่มคุณภาพการผลิต โดยใช้ BCG โมเดล รวมถึงปัญหาและความท้าทายในการพัฒนาสหกรณ์การเกษตร
นอกจากนี้ ผู้แทนกรมส่งเสริมสหกรณ์ยังได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมสหกรณ์ให้เข้มแข็ง โดยมีการประเมินผลการดำเนินงานของสหกรณ์ตามเกณฑ์การจัดระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่
1. ด้านความสามารถในการให้บริการสมาชิก
2.ด้านประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ
3.ด้านประสิทธิภาพในการจัดการองค์กร และ
4.ด้านประสิทธิภาพของการบริหารงาน แล้วนำผลการดำเนินงานทั้ง 4 ด้านมาแบ่งระดับชั้นของสหกรณ์ ซึ่งจะช่วยให้สามารถประเมินความเข้มแข็งของสหกรณ์ได้อย่างถูกต้อง ทำให้สามารถวิเคราะห์และวางแผนแนวทางแก้ไขในการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ในแต่ละระดับได้