อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการช่วยเหลือสหกรณ์โคนมและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม
15 สิงหาคม 2567 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการช่วยเหลือสหกรณ์โคนมและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยมี นายวงศ์ชัย ไชยโย ผู้อำนวยการกองพัฒนาสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร นางสาวชัญญา จงทัน ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาธุรกิจโคนมของสหกรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่ม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 6 กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพมหานคร และมีบุคลากรจากสำนักงานสหกรณ์จังหวัด เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom Meeting ด้วย
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อหารือแนวทางการช่วยเหลือสหกรณ์โคนมและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ตามข้อสั่งการของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินการหาแหล่งเงินทุนให้กับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ กองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) วงเงิน 100 ล้านบาท พิจารณาเงินทุนให้กับสหกรณ์เจ้าหนี้ค่าน้ำนมดิบของ อ.ส.ค. เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อสภาพคล่องให้กับสหกรณ์และเกษตรกร รวมทั้งให้เร่งดำเนินการช่วยกระจายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ผ่านเครือข่ายสหกรณ์ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและสร้างยอดขายให้กับ อ.ส.ค. ในลักษณะเดียวกับการกระจายผลไม้ ตลอดจนจัดทำโครงการลดต้นทุนฟาร์ม ผลักดันฟาร์มขนาดเล็กเป็นขนาดกลางมากขึ้น มีการบริหารจัดการฟาร์มเพื่อลดต้นทุนฟาร์มโคนม พัฒนาอาหารสัตว์ TMR และใช้อุปกรณ์ในสหกรณ์สหกรณ์ที่มี Feed Center
โอกาสนี้ อธิบดีฯ ได้เน้นย้ำให้สหกรณ์จังหวัด และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเฝ้าติดตามสถานการณ์โดยตลอดทั้งที่อยู่ในกลุ่มโคนมไทย-เดนมาร์ค และที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มดังกล่าว หากเกิดปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้กับสมาชิกสหกรณ์ ต้องรีบเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา เช่น การเชื่อมโยงให้สหกรณ์ใกล้เคียงนำเงินมาฝากเพื่อเสริมสภาพคล่องในระยะสั้น รวมทั้งการสนับสนุนเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) ถ้าวงเงินของจังหวัดไม่เพียงพอให้รับดำเนินการทำเรื่องขอรับการสนับสนุนเงิน กพส.เพื่อให้สหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ไม่ได้รับความเดือดร้อน และต้องประเมินดูความสามารถในการชำระหนี้ของสหกรณ์ด้วย รวมทั้งจะต้องดำเนินการเร่งรัดติดตามลูกหนี้ของสหกรณ์ รวมทั้ง อ.ส.ค. ด้วย นอกจากนี้ ส่งเสริมให้สหกรณ์/สมาชิกสหกรณ์ ลดต้นทุนการผลิตอาหารโดยใช้อาหารหยาบ โดยนำข้าวโพดมาสับและหมักเป็นอาหารหยาบให้โคเพื่อลดอาหารข้น ซึ่งจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในส่วนของอาหารโคนม โดยขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้มีโครงการที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพด พื้นที่ประมาณ 5 แสนไร่ สหกรณ์สามารถเข้าไปรับซื้อแล้วนำมาทำเป็นอาหารหยาบเพื่อลดต้นทุนให้กับสมาชิกได้ ทั้งนี้ อยากให้ส่งเสริมสหกรณ์ผลิตอาหารหยาบเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสหกรณ์หลายๆ แห่งได้รับสนับสนุนเครื่องผสมอาหาร TMR ขอให้เข้าไปส่งเสริมสหกรณ์เหล่านี้ให้ใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยอาจจะมีการเชื่อมโยงกันภายในจังหวัด หรือจังหวัดใกล้เคียงขอใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ขอให้เข้าไปดูแลสหกรณ์ที่มีโรงงานผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ ช่วยส่งเสริมการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม การจัดโปรโมชั่น และให้มีการเชื่อมโยงสหกรณ์เครือข่าย ตลอดจนอยากให้นำไปจำหน่ายในร้านค้าสหกรณ์ ช่วยกันกระจายผลิตภัณฑ์นมเพื่อให้สามารถจำหน่ายออกไปได้ ไม่ให้มีค้างในสต๊อก และขอให้ช่วยกันติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ของสหกรณ์หากพบปัญหาจะได้ร่วมกันดูแลแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาปัญหาไม่ให้สหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ได้รับความเดือดร้อนต่อไป