รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน Kick off แม่ฮ่องสอนโมเดล โดยมี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
18 กรกฎาคม 2567 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน Kick off แม่ฮ่องสอนโมเดล โดยมี นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายวีรภัทร เหล่าศาสตร์ สหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วม ณ ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยโครงการดังกล่าว มีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำ มุ่งเป้าให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นต้นแบบการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน โดยใช้หลักการเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) พัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การเตรียมการก่อนปลูก ได้แก่ ตลาดแม่นยำ พื้นที่แม่นยำ พันธุ์แม่นยำ การดูแลรักษา ได้แก่ ปุ๋ยแม่นยำ น้ำแม่นยำ เครื่องจักรกลแม่นยำ การจัดการโรคและแมลงแม่นยำ การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวแม่นยำ และการจำหน่ายแม่นยำ
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งเป้าที่จะให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในปี 2570 ภายใต้การขับเคลื่อน 29 โครงการ เพื่อให้เกษตรกรมีความหลากหลายของรายได้ที่ยั่งยืนด้วยเกษตรผสมผสานพืชมูลค่าสูง เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ใช้พื้นที่น้อยแต่ได้มูลค่าสูง เช่น พืชผัก อโวกาโด กาแฟอาราบิกา ข้าว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง กล้วย โคเนื้อ ไก่ไข่ และปลาพลวงหิน ทั้งยังจะต้องเพิ่มกำไรสุทธิและบริหารจัดการต้นทุนด้วยเทคโนโลยีพลังงานสะอาดแบบดิจิทัลชีวภาพ
สำหรับโครงการแม่ฮ่องสอนโมเดลนี้ จะทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคมีความพึงพอใจจากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และอาหารเชิงวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อีกทั้งภายในพื้นที่แม่ฮ่องสอนยังมีสินค้าเกษตรพื้นที่สูงที่มีเอกลักษณ์มีคุณค่า ส่งเสริมพลังงานสีเขียว ส่งเสริมพลังงานสีเขียวด้วยระบบไฟฟ้าพลังงานสะอาด มาตรฐานสิ่งแวดล้อมสุขภาพและโภชนา สามารถเข้าถึงง่ายและสะดวกด้วยแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและการจัดส่งสินค้าที่มีคุณภาพ มีความมั่นคงด้านอาหาร สร้างความหลากหลายทางชีวภาพป่าชุมชน food bank สร้างงานวิจัยและพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรสู่พรีเมี่ยม สินค้าอาหารสุขภาพ สินค้าเวชสำอางและสินค้าเภสัชพันธุ์ มีการเชื่อมต่อธุรกิจท่องเที่ยวและบริการอาหารสุขภาพ และห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ตลอดจนเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เป็นต้น