อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรม หลักสูตร “ยกระดับองค์ความรู้กฎหมายสหกรณ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับกรรมการสหกรณ์และผู้จัดการสหกรณ์ในภาคการเกษตร”
4 กรกฎาคม 2567 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรม หลักสูตร “ยกระดับองค์ความรู้กฎหมายสหกรณ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับกรรมการสหกรณ์และผู้จัดการสหกรณ์ในภาคการเกษตร” โดยมี นางสุชาดา เคนพิทักษ์ สหกรณ์จังหวัดปทุมธานี เลขานุการกรม ผู้อำนวยการกอง/สำนัก ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการกลุ่ม ผู้เข้ารับการฝึกอบรม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีเปิด ณ โรงแรมเอวาน่า แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่น เซนเตอร์ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร
โอกาสนี้ อธิบดีฯ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ “ยกระดับองค์ความรู้ผู้บริหารสหกรณ์ มุ่งสู่ความเข้มแข็ง” และเยี่ยมชมนิทรรศการและสินค้าคุณภาพของสหกรณ์ “จากต้นแบบสู่แรงบันดาลใจ” สมาชิกกินดี อยู่ดี สหกรณ์มีความเข้มแข็ง อาทิ เนื้อโคขุน จากสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด ปลาฉิ้งฉ้าง จากสหกรณ์การเกษตรเกาะยาว จำกัด กล้วยหอมทอง จากสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด ผลิตภัณฑ์แปรรูปนม จากสหกรณ์โคนมการเกษตรไชยปราการ จำกัด ก่องข้าวน้อย จากสหกรณ์การเกษตรเมืองกาฬสินธุ์ กะปิ จากสหกรณ์การเกษตร กรป.กลาง นคพ.สตูล จำกัด ฯลฯ
จากนั้น อธิบดีฯ ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และผู้จัดการสหกรณ์” พร้อมกล่าวว่า คณะกรรมการสหกรณ์ ผู้จัดการสหกรณ์ มีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเองได้อย่างถ่องแท้ สามารถดำเนินงาน บริหารจัดการสหกรณ์ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการและผู้จัดการสหกรณ์ที่จะต้องทำงานร่วมกัน ในเชิงระบบในการบริหารจัดการบทบาทหน้าที่ของกรรมการสหกรณ์จะมีอยู่ 4 เรื่องหลักที่สำคัญ จะเป็น 4 เสาที่ค้ำยันสหกรณ์ไว้ให้เป็นสถาบันของเกษตรกร มวลหมู่พี่น้องที่เป็นสมาชิกให้มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน บทบาทหน้าที่แรก คือ การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและระมัดระวัง หรือ Duty of Care การทำหน้าที่ของคณะกรรมการและผู้จัดการสหกรณ์ ในเรื่องของการบริหารจัดการสหกรณ์ คือ การตัดสินใจโดยมีความน่าเชื่อถือและเพียงพอเพื่อใช้ในการตัดสินใจ ทั้งข้อมูลทางการเงินของสหกรณ์ ข้อมูลเศรษฐกิจ ข้อมูลสมาชิก ต้องเป็นข้อมูลที่่น่าเชื่อถือ ได้มาจากข้อเท็จจริงเพื่อการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลของคณะกรรมการ ที่สำคัญคณะกรรมการต้องขยันรอบคอบและระมัดระวังโดยตลอดการปฏิบัติหน้าที่ บทบาทหน้าที่ที่ 2 Duty of Royalty การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดของสหกรณ์และสมาชิกโดยตนเองไม่มีส่วนได้เสีย ซึ่งความซื่อสัตย์สุจริตเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการที่จะทำให้สหกรณ์เจริญเติบโต ไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ต้องกระทำโดยมีจุดมุ่งหมายโดยชอบ และไม่เป็นการนำข้อมูลหรือโอกาสของสหกรณ์ไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่นไม่ทำให้สหกรณ์เกิดความเสียหาย การดำเนินงานของสหกรณ์ต้องอาศัยมติที่ประชุมคณะกรรมการ ต้องอาศัยการตัดสินใจร่วมกัน โดยมีข้อมูลขั้นพื้นฐานตามที่ฝ่ายจัดการเสนอเข้าที่ประชุม หากเห็นว่าไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรมไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีก็สามารถปฏิเสธได้ หากคณะกรรมการและฝ่ายจัดการสหกรณ์ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริต ยึดถือผลประโยชน์ของสหกรณ์ เชื่อได้ว่าสหกรณ์ในประเทศไทยนั้นจะมีความเข้มแข็ง บทบาทหน้าที่ที่ 3 Duty of Obedience อยากเห็นมิติที่นิติกรของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดให้คำแนะนำที่ถูกต้องในการดำเนินงานของสหกรณ์ โดยสหกรณ์สามารถขอคำปรึกษานิติกรโดยหารือเป็นหนังสือได้ ซึ่งได้ย้ำกับสหกรณ์จังหวัดและข้าราชการของกรมส่งเสริมสหกรณ์ทุกท่านในการให้คำปรึกษาที่ถูกต้องแก่สหกรณ์ต้องดำเนินการเป็นสิ่งแรกก่อนที่สหกรณ์จะเอาข้อมูลต่าง ๆ ไปตัดสินใจ จะเป็นการป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นในสหกรณ์ได้ และบทบาทหน้าที่ที่ 4 Duty of Disclosure การเปิดเผยข้อมูลต่อสมาชิกอย่างถูกต้อง ครบถ้วนโปร่งใส และทันเวลา ให้สมาชิกได้ทราบสถานการณ์ในสหกรณ์เป็นอย่างไร ข้อมูลการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ ราคาสินค้า และนโยบายที่คณะกรรมการได้มีการลงมติที่จะดำเนินการ ข้อมูลที่เปิดเผยนั้นถูกต้องครบถ้วน เพียงพอ ตรงต่อความเป็นจริง ไม่ปกปิดข้อมูลที่ควรต้องแจ้งในสาระสำคัญ ข้อมูลที่เปิดเผยนั้นต้องเป็นปัจจุบัน และทันตามกำหนดเวลา มีช่องทางการเปิดเผยข้อมูลสามารถเข้าถึงได้ง่ายและเท่าเทียมกัน โดยในการประชุมกลุ่มสมาชิกในแต่ละเดือน/ไตรมาส สามารถแนะนำการดำเนินงานต่าง ๆ ของสหกรณ์ การส่งเสริมอาชีพด้วย อย่างไรก็ตาม หากบทบาททั้ง 4 ด้าน ไปผนวกกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นไปตามความต้องการของสมาชิก สนองตอบต่อความต้องการของสมาชิก สหกรณ์ก็เกิดความเข้มแข็งได้
นอกจากนี้ อธิบดีฯ ได้ชี้แจงถึงโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 เป็นการสนับสนุนปุ๋ยในราคาไม่เกินไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท เป็นโครงการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์เข้ามามีส่วนร่วม และได้ดำเนินการชี้แจงโครงการไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ในบทบาทของสหกรณ์ภาคการเกษตรที่จะเป็นจุดกระจายปุ๋ยให้กับชาวนาที่ได้เลือกสูตรปุ๋ย 14 สูตร และปุ๋ยอินทรีย์ที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรม รวมทั้งชีวภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ทั้งนี้โครงการนี้เปิดกว้างให้ผู้ขาย บริษัท ผู้ประกอบการเข้ามาขายปุ๋ยในโครงการนี้ เกษตรกรและชาวนาที่จะเข้าร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร จากนั้นสมัครเข้าร่วมโครงการผ่านแอพพลิเคชั่นของ ธ.ก.ส. และกรอกข้อมูลความต้องการการใช้ปุ๋ย และเลือกสหกรณ์ที่ต้องการรับปุ๋ย จะเริ่มรับสมัครในวันที่ 15 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเปิดรับสมัครสหกรณ์ที่ประสงค์จะเป็นจุดกระจายปุ๋ยจะได้รับเงินจากรัฐบาล ตันละ 95 บาท ค่าขนส่งบริษัทที่ขายปุ๋ยจะเป็นผู้รับผิดชอบในโครงการ สหกรณ์สามารถให้บริการขนส่งปุ๋ยให้ถึงบ้านสมาชิกได้เช่นเดียวกัน หากสหกรณ์เข้าร่วมโครงการต้องการเงินกู้กรณีพิเศษ สามารถกู้จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ซึ่งกรมฯได้เตรียมเงินกองทุน 300 - 500 ล้านบาท ให้สหกรณ์กู้ไปเป็นทุนหมุนเวียนได้ อย่างไรก็ตาม รายละเอียดต่าง ๆ กรมฯ จะได้รับงบประมาณเพื่อจัดการประชุมเป็นรายจังหวัด จะเร่งดำเนินการประชุมสหกรณ์ในแต่ละจังหวัดพูดคุยกัน เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป
สำหรับโครงการโครงการฝึกอบรม หลักสูตร “ยกระดับองค์ความรู้กฎหมายสหกรณ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับกรรมการสหกรณ์และผู้จัดการสหกรณ์ในภาคการเกษตร” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 - 5 กรกฎาคม 2567 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กรรมการสหกรณ์และผู้จัดการสหกรณ์ในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นผู้จัดการสหกรณ์ที่ผ่านหลักสูตร “ผู้จัดการสหกรณ์” รุ่นที่ 1 - 4 และกรรมการสหกรณ์ของสหกรณ์เดียวกันกับผู้จัดการสหกรณ์หรือจากสหกรณ์อื่น ๆ ที่ได้รับคัดเลือกตามความเหมาะสม ผู้สังเกตการณ์ วิทยากร และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง รวม 340 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กรรมการสหกรณ์และผู้จัดการสหกรณ์ในภาคการเกษตรมีความรู้ด้านการสหกรณ์ มีความเข้าใจบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ ได้รับการพัฒนาความรู้ด้านกฎหมายสหกรณ์ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง สามารถบริหารจัดการสหกรณ์ให้เป็นไปตามอุดมการณ์ หลักการ วิธีการสหกรณ์ คุณค่าสหกรณ์ และบริหารงานตามบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบอย่างได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสามารถยกระดับการบริหารงานสหกรณ์อย่างมืออาชีพ ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง มีประสิทธิภาพควบคู่หลักธรรมาภิบาล รวมทั้งเพื่อให้มีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานในตำแหน่งเพื่อรองรับภารกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป