อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ก พัฒนานิคม จำกัด ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี
17 มิถุนายน 2567 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ก พัฒนานิคม จำกัด ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี พร้อมกับรับฟังสรุปผลการดำเนินงาน และให้คำแนะนำในการดำเนินงาน การบริหารจัดการ เยี่ยมชมซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ การเก็บรวบรวมน้ำนม การแปรรูปอาหารสัตว์ โดยมี นายวงศ์ชัย ไชยโย ผู้ตรวจราชการกรม เขตตรวจราชการที่ 1 และ 2 นายกฤตพจน์ ไชโย สหกรณ์จังหวัดลพบุรี นายเมทวี แดงสกล ประธานกรรมการ คณะกรรมการสหกรณ์ เจ้าหน้าที่สหกรณ์ และบุคลากรสำนักงานสหกรณ์จังหวัดลพบุรี ให้การต้อนรับ
สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ก พัฒนานิคม จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2537 ปัจจุบันมีสมาชิก 370 ราย ทุนดำเนินงาน 81.45 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจ 5 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจส่งเสริมการเกษตร ธุรกิจรวบรวมน้ำนมดิบ และธุรกิจแปรรูปอาหารสัตว์ โดยสหกรณ์เป็นศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP มาตรฐานฮาลาล ดำเนินการรวบรวมน้ำนมดิบจากสมาชิกวันละประมาณ 46 ตัน มีกำลังการผลิตสูงสุดวันละ 210 ตัน รวมทั้งยังได้ผลิตอาหารโคนมเพื่อจำหน่ายให้กับสมาชิกปีละ 15,263 ตัน มีกำลังการผลิตสูงสุดวันละ 60 ตัน
นอกจากนี้ สหกรณ์ยังได้ดำเนินโครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ จำหน่ายอาหารสัตว์ ยารักษาสัตว์ ข้าวสาร สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าชุมชนให้บริการสมาชิกและประชาชนทั่วไป รวมทั้งยังได้ส่งเสริมให้สมาชิกผลิตน้ำนมดิบที่มีคุณภาพ มีการจัดการฟาร์มที่ดี การลดต้นทุนการผลิต โดยจัดหา - แจกพันธุ์หญ้าอาหารสัตว์ให้กับสมาชิก เป็นธุรกิจที่ให้บริการสมาชิกฟรี จากผลการดำเนินงานทำให้สหกรณ์ได้รับรางวัลพระราชทานสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2555 และปี 2564 ด้วย
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดลพบุรี ได้สนับสนุนอุปกรณ์การตลาดให้แก่สหกรณ์ อาทิ เครื่องตรวจคุณภาพน้ำนมดิบ รถบรรทุก 12 ล้อ พร้อมแท็งก์ติดรถ ขนาดบรรจุไม่น้อยกว่า 17 ตัน ขนาดเครื่องยนต์ไม่น้อยกว่า 380 แรงม้า ถังเก็บน้ำนมดิบสแตนเลสพร้อมอุปกรณ์ติดตั้งใช้งาน ขนาดไม้น้อยกว่า 15,000 ลิตร จำนวน 2 ถัง และในปีงบประมาณ 2567/2568 สหกรณ์จะจัดทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การตลาดและนำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ ตลอดจนมีแผนการพัฒนาเป็นโรงงานผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ ขนาด 10 ตัน เพื่อให้เด็กนักเรียนในพื้นที่ได้ดื่มนมที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง เป็นการสร้างงานให้คนในชุมชนมีรายได้ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้นักศึกษามาฝึกทักษะวิชาชีพ เป็นการเพิ่มมูลค่าน้ำนมดิบให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อไป