อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วย รองธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ คณะผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรเครือข่ายแกะ-แพะปัตตานี จำกัด ณ ฟาร์มแกะ-แพะ ปรีกีฟาร ...
13 มิถุนายน 2567 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วย นายประวัติ แดงบรรจง รองธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ คณะผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรเครือข่ายแกะ-แพะปัตตานี จำกัด ณ ฟาร์มแกะ-แพะ ปรีกีฟาร์ม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พร้อมเยี่ยมชมฟาร์มแกะ-แพะ ชมบ่อแหนแดง ปุ๋ยหมักจากมูลแพะ ผลิตภัณฑ์มูลแพะ โรงเลี้ยงแพะ คอกผสมพันธุ์ และโรงผสมอาหาร โดยมี นายธนะวิทย์ ชูทอง ผู้ตรวจราชการกรม เขตตรวจราชการที่ 6 และ 7 นายธัชพงศ์ บัวนุช สหกรณ์จังหวัดปัตตานี นายมาหะมะ ตุงยง ประธานกรรมการสหกรณ์ คณะกรรมการสหกรณ์ สหกรณ์จังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียง และบุคลากรสำนักงานสหกรณ์จังหวัดปัตตานี ให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ อธิบดีฯ ได้รับฟังสรุปผลการดำเนินงานของสหกรณ์ พร้อมกับให้คำแนะนำในการดำเนินงาน การลดตุ้นด้านอาหารเลี้ยงแกะ-แพะ ทั้งอาหารหยาบและอาหารข้น ขอให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชื่อมโยงกับเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการนำข้าวโพดมาเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงแพะคราวละมาก ๆ จะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งและจะลดต้นทุนการเลี้ยงให้สมาชิกด้วย ในด้านองค์ความรู้อื่น ๆ นั้น มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ และมหาวิทยาลัย เข้ามาให้ความรู้ให้มีการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน GAP ในส่วนกรมส่งเสริมสหกรณ์พร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณ อุปกรณ์การตลาดให้กับสหกรณ์เพื่อใช้ในการผลิตอาหารเลี้ยงแพะ และพัฒนาด้านการตลาดเพื่อยกระดับราคาเนื้อแพะ-แกะต่อไป
สหกรณ์การเกษตรเครือข่ายแกะ-แพะปัตตานี จำกัด เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะและแกะในจังหวัดปัตตานี เนื่องจากแพะและแกะถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีมุสลิมในพื้นที่ จึงได้จัดตั้งสหกรณ์เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ปัจจุบันมีสมาชิก 116 คน สหกรณ์ดำเนินธุรกิจ 2 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจเงินรับฝาก ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย
ในด้านการบูรณาการขับเคลื่อนงานภายใต้นโยบายเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของจังหวัดปัตตานี ด้วยสหกรณ์มีสมาชิกครอบคลุมทั้ง 12 อำเภอของจังหวัดปัตตานี แต่จากการดำเนินงานพบว่าโรงเรือนเลี้ยงของสมาชิกมีจำนวนลดลง ซึ่งในขณะเดียวกันความต้องการบริโภคแพะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีไม่เพียงพอกับความต้องการซึ่งสาเหตุที่สมาชิกมีการเลิกเลี้ยงแพะส่วนหนึ่งมาจากปัญหาต้นทุนในเลี้ยงสูง ทางคณะกรรมการดำเนินการจึงมีการขับเคลื่อนงานตามนโยบายเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของจังหวัดปัตตานี และเพื่อให้สหกรณ์เป็นศูนย์รวบรวม
และจำหน่ายแพะ แกะ ตามมาตรฐาน GAP พร้อมผลักดันเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรม HALAL จึงบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักงานสหกรณ์จังหวัดปัตตานีเป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงและบูรณาการแผนงานโครงการต่าง ๆ จากหน่วยงานภาคีในจังหวัดปัตตานี และจังหวัดใกล้เคียงร่วมขับเคลื่อน และส่งเสริมการดำเนินการของสหกรณ์ โดยมีหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดปัตตานี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปัตตานี มหาวิทยาลังสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ฯลฯ
ผลจากการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ทำให้สมาชิกมีโรงเรือนที่ได้มาตรฐาน มีการลดต้นทุนให้กับสมาชิกผู้เลี้ยงแพะ โดยการส่งเสริมให้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่หาได้ในท้องถิ่น โดยการใช้หัวอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นอาหารข้นที่มีการผสมสูตรให้มีค่าโปรตีนสูง นำไปผสมกับวัตถุดิบแหล่งอาหารที่สามารถหาได้เองในท้องถิ่น เช่น มันสำปะหลัง รำ ฯลฯ โดยพื้นที่รอบ ๆ บริเวณโรงเรือน สมาชิกสหกรณ์ได้มีการปลูกหญ้าเนเปีย หญ้าแพงโกล่า ต้นหม่อน กล้วย กระถิน ฯลฯ เพื่อใช้สำหรับบดสับเป็นอาหารแพะ-แกะ เพื่อเป็นรายได้เสริมสมาชิกยังสามารถจำหน่ายมูลแพะสด กระสอบละ 50 บาท และยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้จากการหมักปุ๋ยจากมูลแพะ กระสอบละ 200 บาท ส่งผลให้สมาชิกมีรายได้เสริม ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 – 10,000 บาท/ครัวเรือน/ปี
ปัจจุบันสหกรณ์มีแพะขุน จำนวน 700 ตัว น้ำหนักโดยประมาณ 20 - 25 กิโลกรัม มีแพะพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ จำนวน 57 ตัว โดยมีโรงเรือนที่ได้มาตรฐานแล้ว จำนวน 20 โรงเรือน และมีโรงเรือนที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้ผ่านมาตรฐาน จำนวน 20 โรงเรือน สหกรณ์ได้จัดหาสินค้าเป็นแพะ พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และอาหารแพะ บริการให้กับสมาชิกสหกรณ์ และสหกรณ์ยังมีบริการเครื่องบดสับหญ้าให้บริการกับสมาชิก โดยคิดค่าบริการ 200 บาทต่อหญ้า 1 ตัน นอกจากนี้ สหกรณ์ยังได้มีการส่งเสริมสมาชิกทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยการปลูกทุเรียนและส้มโอบูโก (ผลไม้อัตลักษณ์พื้นถิ่นของจังหวัดปัตตานี) กล้วย มะพร้าว พืชผักสวนครัว โดยการนำปุ๋ยจากมูลแพะมาใช้เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี
นอกจากนี้ สหกรณ์ได้เข้ารับการอบรมโครงการชำแหละเนื้อแพะ การแปรรูปเนื้อแพะ-แกะ สหกรณ์ได้ส่งเสริมให้สมาชิกเป็นผู้ประกอบการการชำแหละชิ้นส่วนแพะจำหน่าย เพื่อเพิ่มปริมาณรายได้ให้กับสมาชิกอีกด้วย