ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดงาน Thailand Islamic Finance Forum 2024 (TIFF 2024) “การเงินฮาลาลเปลี่ยนผ่าน สู่ความมั่งคั่งยั่งยืน"
3 พฤษภาคม 2567 นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดงาน Thailand Islamic Finance Forum 2024 (TIFF 2024) “การเงินฮาลาลเปลี่ยนผ่าน สู่ความมั่งคั่งยั่งยืน“ โดยมี นายอับดุรเราะห์มาน อับดุลอะซีซ อัลซุฮัยบานี เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย อาจารย์อรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายโกญจนาท มายะการ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 ผศ.ดร. วรวิทย์ บาทรู ประธานกรรมการเครือข่ายสหกรณ์อิสลามแห่งประเทศไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมอัลมีรอซ รามคำแหง กรุงเทพมหานคร
โอกาสนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้กล่าวปาฐกถา หัวข้อ “การพัฒนาสหกรณ์เติบโตอย่างมั่นคง สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน” โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์มีภารกิจในการดูแลและพัฒนาสหกรณ์ทั่วประเทศ ซึ่งสหกรณ์อิสลามในประเทศไทย ก่อตั้งมาประมาณ 35 ปี มีสหกรณ์อิสลามประมาณ 100 แห่ง มีสมาชิก 330,000 คน สินทรัพย์โดยรวม 20,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สหกรณ์อิสลามในประเทศไทย มีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์บริการ สหกรณ์การเกษตร และสหกรณ์ประมง ซึ่งหลายประเทศใช้ระบบสหกรณ์เข้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพราะสหกรณ์เกิดจากการรวมเอาบุคคลที่มีความเดือดร้อนทางด้านเศรษฐกิจคล้ายคลึงกันมารวมตัวจัดตั้งขึ้นเป็นสหกรณ์ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในการดำเนินงาน โดยสมาชิกสหกรณ์แต่ละท่านต้องยึดหลักว่า ตนเองต้องช่วยตนเองได้ก่อน คือ มีอาชีพ มีรายได้ และสิ่งสำคัญสำหรับการเป็นสมาชิกสหกรณ์ คือ ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความขยันหมันเพียรในการทำมาหากิน ซึ่งสิ่งที่เรายึดมั่นในเรื่องของสหกรณ์ คือ การที่บุคคลคนนั้น จะต้องมีความน่าเชื่อถือในหมู่มวลสมาชิก เพื่อที่จะมารวมตัวช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสหกรณ์ มีความเท่าเทียมกัน ตรงนี้ที่จะทำให้สหกรณ์แห่งนั้นมีความเจริญเติบโต และมีสันติสุขเกิดขึ้นในหมู่มวลสมาชิก
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานฝ่ายรัฐบาลที่ดูแลสหกรณ์ในประเทศไทย ซึ่งตามที่กล่าวมาว่า ทั่วโลกมีทั้งฝ่ายรัฐ และฝ่ายของสหกรณ์ ที่เป็นการรวมตัวของประชาชน และจัดตั้งเป็นองค์กรขึ้นมา ได้รับการจดทะเบียน บริหารงานโดยคณะกรรมการ ซึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์แต่ละแห่ง และได้รับความไว้วางใจจากสมาชิก เลือกเข้ามาเป็นคณะกรรมการบริหารสหกรณ์ ซึ่งความเข้มแข็งของสหกรณ์แต่ละแห่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกของสหกรณ์แต่ละแห่งเข้ามาใช้บริการของสหกรณ์ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าใน 1 สหกรณ์ ถ้ามีสมาชิก 100 คน อย่างน้อย 70 คน จะต้องมาดำเนินงานกับสหกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นฝากเงิน หรือนำสินค้าที่สหกรณ์จัดหามาจำหน่าย แล้วไปก่อให้เกิดรายได้กับตัวเอง โดยหัวใจหลัก คือ ตัวสมาชิก ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการให้การศึกษาอบรมที่เกี่ยวกับหลักการ วิธีการ อุดมการณ์สหกรณ์ ซึ่งเป็นหลักสากลที่เหมือนกันทั้งโลก และที่สำคัญคือ จะต้องมีการแบ่งปัน ส่วนเกินที่มาจากการดำเนินงาน ไม่เป็นของใครคนหนึ่ง จะต้องกระจายให้กับสมาชิกที่มีส่วนร่วมกับการดำเนินงานของสหกรณ์ทุกคน ในรูปแบบของการเฉลี่ยคืนตามส่วนของการทำธุรกิจ ทุกคนจะได้รับการแบ่งปันโดยเท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ สหกรณ์สามารถแบ่งส่วนหนึ่งไว้เพื่อให้สังคัม รวมถึงเผื่อแผ่ไปถึงสู่ชุมชนอาศัย ทุนการศึกษา สวัสดิการ ทุนสาธารณประโยชน์ที่จะให้กับบรรดาสมาชิกหรือในชุมชน อีกทั้ง ในสหกรณ์จะมีคณะกรรมการ เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการเป็นผู้แทนของสมาชิก นอกจากนี้ วิธีการดำเนินงานของสหกรณ์ อาจจะต้องดำเนินการโดยที่กำหนดนโยบายขึ้นมาเองว่าเรื่องใดที่ทำแล้วเกิดประโยชน์กับสมาชิก ไม่ขัดต่อกฎหมาย สามารถทำได้ เช่น การจัดหาสินค้ามาจำหน่าย การหาปัจจัยการผลิตมาให้แก่สมาชิก รวมทั้ง เรื่องระบบบัญชีของสหกรณ์ก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ้น คือ มีบางสหกรณ์ไม่สามารถปิดบัญชีและแสดงงบการเงินให้สมาชิกเห็นว่าฐานะการเงินของสหกรณ์เป็นอย่างไร นอกจากนี้ ในเรื่องความร่วมมือของสมาชิก คณะกรรมการ และการมีระบบบัญชีที่ดี อัตราส่วนการดำเนินงานสหกรณ์ที่ดี จะนำไปสู่ความยั่งยืนของสหกรณ์ในประเทศไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การหยั่งรากลึกของสหกรณ์อิสลามในหลายๆ ภูมิภาคของประเทศ จะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพี่น้องสหกรณ์อิสลามต่อไป