วางพานพุ่มและพวงมาลัยถวายสักการะพระอนุสาวรีย์ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์
26 กุมภาพันธ์ 2567 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้แทนหน่วยงานราชการ ผู้แทนสหกรณ์ ขบวนการสหกรณ์ ข้าราชการ และพนักงานราชการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมในพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สด จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ถวายสักการะพระอนุสาวรีย์ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พิธีกล่าวกล่าวสดุดีพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย เนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติ ปี 2567 และพิธีอ่านสารนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน เนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2567 ในโอกาสครบรอบ 108 ปี การสหกรณ์ไทย ณ บริเวณลานพระอนุสาวรีย์พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพมหานคร
พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ได้ทรงส่งเสริมให้ก่อตั้งสหกรณ์แห่งแรก คือ สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ณ ตำบลวัดจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก และทรงเป็นนายทะเบียนสหกรณ์ (พระองค์แรก) รับจดทะเบียนเป็นสหกรณ์แห่งแรก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459 และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2527 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันสหกรณ์แห่งชาติ” รัฐและขบวนการสหกรณ์ไทยได้ร่วมจัดงาน "วันสหกรณ์แห่งชาติ" ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อร่วมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณขององค์ผู้ให้กำเนิด "สหกรณ์" พระองค์ท่านไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับจดทะเบียนเท่านั้น แต่เป็น "พระบิดาแห่งสหกรณ์ไทย" ทรงส่งเสริมให้มีการเผยแพร่อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ ไปทั่วประเทศ อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร และสมาชิกสหกรณ์ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศสืบเนื่องมาโดยตลอด จนครบ 108 ปี สหกรณ์ไทยในวันนี้
ปัจจุบันมีจำนวนสหกรณ์ทั่วประเทศมากกว่า 6,300 แห่ง สมาชิก 11 ล้านครัวเรือน มีมูลค่าสินทรัพย์โดยรวมมากถึง 4 ล้านล้านบาท มีการแบ่งประเภทสหกรณ์ออกเป็น 7 ประเภท คือ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง สหกรณ์นิคม สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ทั้งนี้ ในปี 2567 กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเพิ่มรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกสหกรณ์ การแก้ปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรและสหกรณ์ออมทรัพย์ มุ่งเน้นไปในเรื่องของการแก้ไขปัญหาคุณภาพหนี้ การจัดที่ดินทำกินให้แก่สมาชิกนิคมสหกรณ์ รวมทั้งการสร้างอาชีพสร้างรายได้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกสหกรณ์ สนับสนุนการแปรรูปสินค้าเกษตรและการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร สนับสนุนอุปกรณ์การตลาด พร้อมเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างเครือข่ายสหกรณ์ เน้นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สมาชิก สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความยั่งยืนของระบบสหกรณ์ ตลอดจนการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตในสหกรณ์ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรทั้งบุคลากรของสหกรณ์และบุคลากรของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมผลักดันให้สหกรณ์ต่าง ๆ ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม เข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจและบริหารจัดการ โดยยึดหลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”