รมว.กษ.เปิดงานนวัตกรรมเสริมแกร่งถั่วเหลืองไทยฯ
3 พฤศจิกายน 2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “นวัตกรรมเสริมแกร่งถั่วเหลืองไทย เพิ่มรายได้เกษตรกร” โดยมี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายสุริยะ คำปวง ผู้ตรวจราชการกรม เขตตรวจราชการที่ 15,16,17 และ 18 นายสันทาน สีสา ผู้อำนวยการกองพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร นายบรรจง ชัยขุนพล ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบสนับสนุนการสหกรณ์ นางสาวกมลวรรณ นุชัย สหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ และเกษตรกรในพื้นที่ ร่วมพิธีเปิด ณ นิคมสหกรณ์แม่แตง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบโล่รางวัลนักปลูกถั่วเหลืองมือทอง ประจำปี 2566 ให้แก่เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการปลูกถั่วเหลืองเป็นปีแรก โดยมีเกษตรกรที่ได้รับรางวัล จำนวน 5 รางวัล พร้อมกล่าวว่า ถั่วเหลือง นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่สามารถผลิตหรือแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะใช้ในการสกัดน้ำมัน แปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร หรือผลิตอาหารสัตว์ จึงทำให้เป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการ ที่สำคัญถั่วเหลืองยังช่วยบำรุงดิน เพิ่มธาตุอาหารในดิน ลดการใช้ปุ๋ยในการปลูกพืชฤดูถัดไป แต่ปัจจุบันประเทศไทย กลับสามารถผลิตถั่วเหลืองได้เพียง 2 - 3 หมื่นตันต่อปี และยังได้ผลผลผลิตต่อไร่ต่ำ ทั้งที่มีความต้องการใช้ถั่วเหลืองมากถึง 3.2 ล้านตันต่อปี จึงทำให้ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้ามากถึง 99%
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกับทางสมาคมการค้าผู้ผลิตอาหารจากถั่วเหลืองไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองในการร่วมกันศึกษา วิเคราะห์ วิจัย นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาส่งเสริมผลผลิตถั่วเหลืองให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จนสามารถเพิ่มผลผลิตจาก 267 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มเป็น 300 - 400 กิโลกรัม/ไร่ เป็นผลสำเร็จในวันนี้ โดยนำร่องพื้นที่อำเภอแม่แตง เป็นโมเดลต้นแบบ ยกระดับพืชเศรษฐกิจถั่วเหลืองไทย ผลักดันสู่ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สอดคล้องนโยบาย ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ของรัฐบาล ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดี ที่จะได้ร่วมกันประชาสัมพันธ์และส่งเสริมถึงโมเดลการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ในการปลูกถั่วเหลืองในพื้นที่ตนเองต่อไป