หารือแนวทางความร่วมมือการดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าพรุ ด้วยการพัฒนาแบบยั่งยืน และการพัฒนาระเบียบวิธีการคำนวณคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าพรุ
25 ตุลาคม 2566 นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วย นายบรรจง ชัยขุนพล ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบสนับสนุนการสหกรณ์ นางครสวรรค์ โภคา ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการพระราชดำริ นางสาวกัญญรัตน์ ซ้ายพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมงานสหกรณ์ และนายพงศ์สันต์ ขำปู่ ผู้อำนวยการกลุ่มจัดที่ดินนิคมสหกรณ์ ให้การต้อนรับ นายวีรเทพ พิรโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และคณะ
ในโอกาสขอเข้าพบเพื่อหารือแนวทางความร่วมมือการดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าพรุ ด้วยการพัฒนาแบบยั่งยืน และการพัฒนาระเบียบวิธีการคำนวณคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าพรุ ณ ห้องประชุมชั้น 6 กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพมหานคร
โอกาสนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้รับฟังสรุปความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าพรุ ด้วยการพัฒนาแบบยั่งยืน และการพัฒนาระเบียบวิธีการคำนวณคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าพรุ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส และร่วมพิจารณาเรื่องกำหนดขอบเขตพื้นที่ดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 2 “โครงการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าพรุบาเจาะด้วยกลไกคาร์บอนเครดิต” รวมถึงการขอรับการสนับสนุนข้อมูลแผนการจัดการพื้นที่นิคมสหกรณ์บาเจาะในอนาคต โดยรองอธิบดีฯ กล่าวว่ากรมส่งเสริมสหกรณ์มีความยินดีให้การสนับสนุนด้านข้อมูลของนิคมสหกรณ์บาเจาะอย่างเต็มที่ เนื่องจากกรมเล็งถึงเห็นความสำคัญและมีแผนจะดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่นิคมสหกรณ์ทั่วประเทศอยู่ด้วยแล้ว จากนี้ขอให้ทั้งสองหน่วยงานร่วมกันประสานงาน ลงพื้นที่เก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ต่อไป
ทั้งนี้ โครงการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าพรุ ด้วยการพัฒนาแบบยั่งยืน และการพัฒนาระเบียบวิธีการคำนวณคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าพรุ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เป็นโครงการที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระเบียบวิธีการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าพรุ และเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER Methodology) และระเบียบวิธี T-VER มาตรฐานขั้นสูง หรือระเบียบวิธีการอื่นที่เทียบเท่ามาตรฐานสากล ซึ่งในประเทศไทยยังไม่เคยมีระเบียบวิธีประเมินการกักเก็บคาน์บอนในพื้นที่ป่าพรุ หากมีแนวทางในการพัฒนาวิธีการคำนวณค่าคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าพรุที่น่าเชื่อถือ จะเป็นแรงจูงใจให้ชุมชนเห็นความสำคัญและหันมาร่วมกันดูแลรักษาป่าพรุมากขึ้นในอนาคต