ประชุมคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์
17 ตุลาคม 2566 นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ครั้งที่ 2/2566
โดยมี ผู้อำนวยการกอง/สำนัก สหกรณ์จังหวัด ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการกลุ่ม ผู้แทนกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้แทนสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ผู้แทนชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้แทนชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่คณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 226 กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพมหานคร
ในการนี้ ที่ประชุมได้มีการติดตามผลการประชุมเพื่อพิจารณาหาข้อสรุปประเด็นอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ตามมติคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ครั้งที่ 1/2566 ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินการหารือร่วมกับชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อให้ได้ข้อสรุป โดยผลการหารือที่ประชุมได้กำหนดอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน โดยกำหนดให้สหกรณ์ขนาดเล็กดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องที่อัตราร้อยละ 2 สหกรณ์ขนาดใหญ่ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องที่อัตราร้อยละ 3 ในขณะที่ชุมนุมสหกรณ์ให้ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องที่อัตราร้อยละ 5 ซึ่งการนับสินทรัพย์สภาพคล่องที่เงินฝากชุมนุมสหกรณ์หรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยชุมนุมสหกรณ์ที่มีระยะเวลาคงเหลือก่อนวันถึงกำหนดใช้เงินไม่เกินหนึ่งปี ให้ถือเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้ไม่เกินร้อยละ 80 ของจำนวนที่ต้องดำรงสินทรัพย์ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย
1.ร่างกฎกระทรวงการบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง
2.ร่างกฎกระทรวงการรับฝากเงิน การก่อหนี้ การสร้างภาระผูกพัน และการค้ำประกัน
3.ร่างกฎกระทรวงการกำกับการกระจุกตัวของความเสี่ยงในการฝากเงิน ให้กู้เงิน ก่อหนี้และภาระผูกพันระหว่างสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์
4.ร่างกฎกระทรวงการจัดชั้นสินทรัพย์และกันเงินสำรอง และ 5.ร่างกฎกระทรวงการให้กู้และการให้สินเชื่อ
โดยรองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ขอให้ผู้แทนทุกหน่วยงานร่วมกันนำเสนอความเห็นในประเด็นที่ยังติดขัดในทุกร่างกฎกระทรวงให้เกิดความชัดเจน ก่อนเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป