อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ มอบแนวทางการขับเคลื่อนงานตามแผนงานและนโยบาย ปีงบประมาณ 2566
30 กันยายน 2566 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ มอบแนวทางการขับเคลื่อนงานตามแผนงานและนโยบาย ปีงบประมาณ 2566 โดยมี นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายประวัติ แดงบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ คณะผู้บริหาร ข้าราชการ บุคลากรกรมส่งเสริมสหกรณ์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมรับมอบนโยบายฯ
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ มอบแนวทางการขับเคลื่อนงานตามแผนงานและนโยบาย ปีงบประมาณ 2566 โดยมี นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายประวัติ แดงบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ คณะผู้บริหาร ข้าราชการ บุคลากรกรมส่งเสริมสหกรณ์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมรับมอบนโยบายฯ ณ ห้องปรินซ์บอลรูม โรงแรมปรินซ์พาเลซ ถนนกรุงเกษม กรุงเทพมหานคร
ในปีงบประมาณ 2567 กรมฯ จะขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลเพื่อพัฒนาสหกรณ์ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ นโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตร และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ดำเนินมาตรการการพักหนี้ เกษตรกร ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ไม่น้อยกว่า 100,000 ราย พร้อมกับการสร้างอาชีพสร้างรายได้ระหว่างพักหนี้ นโยบายการจัดที่ดินทำกินให้แก่สมาชิกนิคมสหกรณ์ทุกแห่ง ไม่น้อยกว่า 90% ของพื้นที่ เพื่อออกเอกสารสิทธิ์ กสน.3 และ กสน.5 ให้แก่เกษตรกรสมาชิกนิคมสหกรณ์ และการสิ้นสภาพนิคมสหกรณ์ รวมทั้งการจัดที่ดินทำกินให้สมาชิกนิคมสหกรณ์การเช่า 13 นิคม 14 ป่า ให้เป็นนิคมสหกรณ์ทั้งหมด ไปจนถึงนโยบายการสนับสนุนการแปรรูปสินค้าเกษตรและการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ส่งเสริมให้สหกรณ์ที่ได้รับสนับสนุนอุปกรณ์การตลาดใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ และสนับสนุนอุปกรณ์การตลาดที่จำเป็น พร้อมทั้งสร้าง สนับสนุนกลุ่มอาชีพสมาชิกสหกรณ์มีการแปรรูปสินค้าเกษตร เกิดการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนระหว่างเครือข่ายสหกรณ์เป็นห่วงโซ่อย่างครบวงจร ทั้งการผลิต การรวบรวม การแปรรูป และการตลาดเพื่อกระจายสินค้าคุณภาพของสหกรณ์ อาทิ ผัก ผลไม้ ข้าวสาร มากกว่า 100 ล้านบาท/จังหวัด โดยทำต่อเนื่องตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ มีมาตรการป้องกันปราบปรามการทุจริตในสหกรณ์ โดยเฉพาะสหกรณ์ทุกประเภทที่มีทุนการดำเนินงาน 100 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องมีแอพพลิเคชันให้บริการสมาชิก 90% ใช้ตรวจสอบสถานะทางบัญชีของตนเอง ตรวจสอบสถานะของสหกรณ์ รวมไปถึงสหกรณ์ที่ขาดทุนสะสม ต้องตั้งผู้ตรวจการสหกรณ์เข้าไปกำกับดูแล และไม่ให้เกิดการทุจริต มีการจัดตั้งสหกรณ์อย่างมีคุณภาพ การควบรวมสหกรณ์ขนาดเล็กให้เป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพมีความเข้มแข็ง ส่งเสริมสหกรณ์ที่มีอยู่ให้เติบโตขึ้น ไปจนถึงการพัฒนาบุคลากร ทั้งผู้จัดการสหกรณ์ เจ้าหน้าที่สหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้พัฒนาตนเองในหลักสูตรที่จำเป็นตามความต้องการของตนเองให้มีความรู้ ทักษะในการลงพื้นที่ปฏิบัติงาน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการให้ความสําคัญกับโครงการพระราชดำริ และโครงการหลวง ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมฯ พร้อมสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้บุคลากรของกรมส่งเสริมสหกรณ์สามารถขับเคลื่อนงานตามนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง มีธรรมาภิบาล ยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้นต่อไป