รมว.กษ. ลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี
16 กันยายน 2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการติดตามการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อติดตามรับฟังปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดปัตตานี
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการติดตามการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อติดตามรับฟังปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดปัตตานีพร้อมมอบปัจจัยการผลิตให้เแก่เกษตรกร ณ มัสยิดโบราณบาโงยลางา ตําบลทรายขาว อําเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี โดยมี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายธัชพงศ์ บัวนุช สหกรณ์จังหวัดปัตตานี หัวหน้าส่วนราชการ เกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า ปัญหาที่ดินทําการเกษตรที่เป็นเอกสารสิทธิ์ ส.ค.1 เป็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอันดับต้น ๆ ใน จ.ปัตตานี โดยได้ขอให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งรัดแก้ไขพื้นที่ทำกินในเขตตำบลทรายขาว และตำบลใกล้เคียง เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 2,000 ครัวเรือน เพราะพื้นที่ดังกล่าวปัจจุบันมีการกำหนดให้เป็นเขตป่าไม้ ก่อนและหลังที่ประชาชนเข้าไปทำประโยชน์ เพื่อปลูกยางพารา ปลูกทุเรียน และที่อยู่อาศัย โดยในเรื่องนี้ ตนได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้น อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทยแล้ว โดยจะหารือร่วมกันถึงแนวทางแก้ไข เพราะชาวบ้านไม่สามารถเข้าทำการปรับปรุงพื้นที่เพื่อทำการเกษตรได้ โดยเฉพาะการปลูกทุเรียนทรายขาวซึ่งเป็นผลผลิตที่สร้างรายได้ให้เกษตรกร อย่างไรก็ตาม จะต้องเร่งรัดดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์ว่าเป็นของประชาชนจริงหรือไม่ ก่อนที่จะประกาศเป็นเขตอุทยาน โดยจะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวพระราชดำริให้คนอยู่คู่กับป่าไม้ และเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้รับสิทธิการใช้ที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมายและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้
นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ผลิตทุเรียนทรายขาวให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับอำเภอทรายขาว และเป็นจุดขาย ดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยส่งเสริมการผลิตในรูปแบบแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุน ซึ่งตำบลทรายขาว มีทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก พื้นที่ปลูกทุเรียนในปี 2566 ทั้งหมด 836.5 ไร่ เกษตรกร 497 ครัวเรือน ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 545 ตัน ทั้งนี้ ยังพบปัญหาการระบาดของศัตรูพืช หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้ความรู้กับเกษตรกรในการป้องกัน รวมทั้งส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมการป้องกันกําจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิต กระทบต่อคุณภาพของผลผลิตทุเรียน และสร้างความความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภค
สำหรับปัญหาชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี พบว่า ยังขาดเครื่องมืออุปกรณ์ องค์ความรู้สําหรับใช้ในการดําเนินงานในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย โดยในเรื่องนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยินดีให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดการทําประมงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันจะนําไป สู่การสร้างงาน สร้างรายได้พร้อมๆ ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อีกทั้ง ได้ผลักดันในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่แหล่งน้ำ เนื่องจากปัตตานีมีน้ำต้นทุนน้อย จึงมอบหมายให้กรมชลประทานศึกษาร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบให้ครอบคลุมทั้ง 12 อำเภอในจังหวัดปัตตานีต่อไป