ประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหามังคุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช
6 กันยายน 2566 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหามังคุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้ตรวจราชการกรม ผู้อำนวยการกอง/สำนัก ผู้อำนวยการกลุ่ม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 226 กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพมหานคร
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหามังคุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้ตรวจราชการกรม ผู้อำนวยการกอง/สำนัก ผู้อำนวยการกลุ่ม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 226 กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพมหานคร โดยถ่ายทอดสัญญาณผ่านระบบ Zoom Meeting ไปยังสำนักงานสหกรณ์จังหวัดด้วย
ในการนี้ อธิบดีฯ กล่าวว่า จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการตลาดให้พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกมังคุด ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มของผู้ผลิตมังคุดคุณภาพ ซึ่งมีตลาดรองรับที่แน่นอน สามารถจำหน่ายได้ซึ่งมีการเตรียมการในระบบเป็นอย่างดี ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีปัญหาด้านการผลิตและการตลาด โดยเฉพาะมังคุดที่ตกไซส์หรือมังคุดจิ๋ว และมังคุดดำ จากที่ได้ลงพื้นที่ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงฯ ก็ได้รับทราบปัญหาและมีแนวทางแก้ไขโดยกระทรวงพาณิชย์มีการกระจายในเครือข่ายของพาณิชย์ ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารกระทรวงฯ มอบให้ทางองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ รับผิดชอบในเรื่องของการกระจายผลผลิตมังคุดไปสู่มือของผู้บริโภค ซึ่งอาจจะเป็นมังคุดคละไซส์หรือมังคุดขนาดจิ๋วที่เกิดปัญหาขึ้น คือมาตรการในระยะสั้น
ส่วนมาตรการในระยะยาว เกษตรกรได้ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น การให้มีการแปรรูปมังคุดขนาดเล็ก มังคุดตกไซส์เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น มังคุดกวน น้ํามังคุด รวมถึงการตั้งโรงงานรับซื้อมังคุดในขณะที่ไม่สามารถที่จะส่งออกหรือขายในตลาดอื่นได้ เพื่อช่วย แก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร ในส่วนของ สหกรณ์ที่ทําในเรื่องของการรวบรวมมังคุด การดูแลผลผลิตของเกษตรกรตั้งแต่ต้นน้ํา คุณภาพ GAP รวมทั้งการเพิ่มจุดรวบรวมมังคุดในสหกรณ์ให้มากขึ้นแล้วกระจายในเครือข่ายของสหกรณ์ก็ต้องทําต่อเนื่อง รวมถึงในเรื่องของการสนับสนุนอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องคัดมังคุด หรือการส่งเสริมการแปรรูปผ่านกระบวนการของกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ หรือกลุ่มอาชีพในสหกรณ์ให้ดำเนินการจัดทําโครงการเพื่อสนับสนุนแก้ไขปัญหาพืชผลการเกษตรของเกษตรกร ซึ่งมาตรการเหล่านี้ที่ทําผ่านสหกรณ์ ไม่เฉพาะเรื่องของมังคุดเพียงอย่างเดียว ผลผลิตการเกษตรอื่นที่มีปัญหาเป็นประจําทุกปี ต้องวางแผนหาตลาดแก้ปัญหาระยะสั้น เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่มีความยั่งยืนในอนาคต ส่วนกระบวนการของสหกรณ์ขอให้เตรียมการสนับสนุนสหกรณ์ กลุ่มสมาชิกสหกรณ์ การแก้ไขปัญหาในระยะยาวให้กับพี่น้องเกษตรกรด้วย
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้วางแผนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายการรับซื้อมังคุด 710 ตัน จากสหกรณ์ที่รวบรวมมังคุดในจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 4 แห่ง ซึ่งได้เปิดจุดรับซื้อโดยการประมูล 5 จุด เพิ่มการรับซื้อเกรดตกไซส์และลูกดำ จะใช้กลไกสหกรณ์กระจายผลผลิตผ่านเครือข่ายสหกรณ์ จังหวัดละ 10 ตัน จำนวน 71 จังหวัด ขณะนี้ได้มีการสั่งจองมังคุดแล้ว จำนวนรวม 50 ตัน และได้ทยอยจัดส่งตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2566 จำนวน 8.94 ตัน และจะทยอยจัดส่งจนถึงวันที่ 19 กันยายน 2566 โดยกองพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร จะเป็นศูนย์กลางการประสานงานด้านการสั่งซื้อ ปริมาณมังคุด การบริหารจัดการการซื้อขายระหว่างเครือข่ายสหกรณ์กับสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชที่ได้เปิดจุดรับซื้อมังคุด และประสานกับทาง อ.ต.ก. เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหามังคุดให้กับพี่น้องเกษตรกรต่อไป