รมว.กษ. ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
4 กันยายน 2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชติดตามสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตร และติดตามงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชติดตามสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตร และติดตามงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายประวัติ แดงบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายเฉลิม นวมนิ่ม สหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ
ณ เทศบาลตำบลพรหมโลก ตำบลพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมเยี่ยมชมจุดรับซื้อมังคุด ณ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านวังลุง จำกัด อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช
สำหรับสถานการณ์มังคุดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ปลูกมังคุด 96,479 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 92,387 ไร่ ผลผลิตรวม 43,533 ตัน แบ่งเป็น ผลผลิตนอกฤดู 2,972 ตัน และผลผลิตในฤดูกาล 40,561 ตัน โดยมีผลผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน และออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคม จำนวน 11,954 ตัน ปัจจุบันเก็บเกี่ยวไปแล้วบางส่วน ผลผลิตมังคุดคงเหลือในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชประมาณ 10,000 ตัน โดยผลผลิตที่เหลือส่วนใหญ่จะเป็นมังคุดภูเขา ในพื้นที่อำเภอนบพิตำ อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอทุ่งสง อำเภอจุฬาภรณ์ และอำเภอลานสกา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้กำชับว่าต้องมาแก้ไขปัญหาของพี่น้องเกษตรกรอย่างจริงจัง โดยต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้เกิความยั่งยืน จึงได้สั่งการปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการในระยะเร่งด่วนโดยมอบหมายให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และกรมส่งเสริมสหกรณ์ นำมังคุดของเกษตรกรมาจำหน่าย โดยให้ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงราคากันอย่างเป็นธรรม และได้มอบหมายกรมการค้าภายในเร่งกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืนด้วย และในส่วนของมาตรการระยะกลางและระยะยาว จะมีการหารือร่วมกับคณะรัฐมนตรีต่อไป
ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการส่งเสริมผลักดันให้มีการรวมกลุ่มในรูปแบบแปลงใหญ่และวิสาหกิจชุมชนให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นให้เกษตรกรรายย่อยเกิดการรวมกลุ่มเพื่อรวบรวมผลผลิต และมีการคัดแยกเกรดเพื่อจำหน่ายโดยวิธีการประมูล ซึ่งจะช่วยยกระดับราคาและรายได้ให้กับเกษตรกร อีกทั้งยังมีการประชาสัมพันธ์สร้างรับรู้ให้กับเกษตรกรผู้ผลิตมังคุดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ผลิตมังคุดคุณภาพตามมาตรฐานสินค้าเกษตร (GAP) และรวมกลุ่มจำหน่าย อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงผ่านสหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปยังสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด 23.325 ตัน มูลค่า 922,500 บาท
นอกจากนี้ ในด้านการตลาด สำนักงานพาณิชย์จังหวัดยังได้รวบรวมมังคุดจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ไปเปิดจุดจำหน่ายในกรุงเทพมหานคร ผ่านรถโมบาย จำนวนทั้งหมด 100 จุด และต่างจังหวัดอีก 120 จุด รวม 220 จุด ปริมาณ 1,100 ตัน และได้เพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรในการจำหน่ายมังคุดผ่านช่องทางออนไลน์ โดยได้มอบกล่องใส่ผลไม้ให้กับเกษตรกร โดยปีนี้จัดส่งให้จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 35,000 กล่องด้วย