ลงพื้นที่เยี่ยมชมและรับฟังบรรยายผลการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรเมืองเพชรบุรี จำกัด จังหวัดเพชรบุรี
21 กรกฎาคม 2566 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมและรับฟังบรรยายผลการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรเมืองเพชรบุรี จำกัด จังหวัดเพชรบุรี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมและรับฟังบรรยายผลการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรเมืองเพชรบุรี จำกัด จังหวัดเพชรบุรี จากนั้น เดินทางไปศึกษาดูงานการรวบรวมผลผลิตกล้วยหอมทองอินทรีย์ส่งออกต่างประเทศ โดยมี คณะกรรมการสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ ณ สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด จัดตั้งเป็นสหกรณ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2517 ปัจจุบันมีสมาชิก 3,206 คน ดำเนินธุรกิจ 5 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจรวบรวมผลผลิต ธุรกิจตลาดกลาง และธุรกิจเงินรับฝาก รวมทั้งสหกรณ์ดำเนินการรวบรวมกล้วยหอมทองส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ปีละ 5.898 ล้านบาท โดยมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากกล้วยหอมทองมีความอร่อย เนื้อละเอียด ซึ่งใช้ต้นพันธุ์ที่เป็นต้นอนุรักษ์ มีมาตรฐานรับรอง ส่วนการจำหน่ายภายในประเทศ มีมูลค่ามากกว่า 90 ล้านบาท/ปี ทำให้สมาชิกสหกรณ์มีรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 56,148.59 บาท/ราย ส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น นอกจากสมาชิกจะได้รับประโยชน์จากการแก้ไขปัญหาความยากจนแล้ว เมื่อสหกรณ์มีกำไรจัดสรรคืนสู่สมาชิกรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ เงินปันผลตามหุ้น เงินเฉลี่ยคืนธุรกิจ จัดสรรสำรองไว้เป็นทุนพัฒนาคุณภาพผลผลิต ทุนรักษาระดับราคาผลผลิต ทุนสวัสดิการเพื่อสมาชิก ทุนศึกษาอบรม ทุนสาธารณประโยชน์ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้นและมีความผาสุก
ปัจจุบันสหกรณ์ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจนของสมาชิก และได้ขยายผลเผยแพร่ให้กับเกษตรกรที่สนใจทั้งหน่วยงานภาคเอกชน ประชาชนทั้งในและต่างประเทศ โดยได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้และศึกษาดูงานในเรื่องกล้วยหอมทองปลอดภัย รวมทั้งสมาชิกแปลงใหญ่กล้วยหอมทองของสหกรณ์สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ในแปลง ซึ่งมีผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงาน เช่น หน่วยงานราชการ นักศึกษา สหกรณ์ในประเทศญี่ปุ่น และประเทศเวียดนาม ปีละประมาณ 500 ราย