กระชับความสัมพันธ์ทางการฑูต ไทย-สหรัฐอเมริกา ครบรอบ 190 ปี
26 มิถุนายน 2566 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย Mr.Marc Gilkey ผู้แทนกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ร่วมเป็นสักขีพยานการจัดส่งส้มโอไทยชิปเม้นท์แรก มะม่วงครั้งแรกของฤดูกาลปี 2566 และมังคุด ไปยังกรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย Mr.Marc Gilkey ผู้แทนกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ร่วมเป็นสักขีพยานการจัดส่งส้มโอไทยชิปเม้นท์แรก มะม่วงครั้งแรกของฤดูกาลปี 2566 และมังคุด ไปยังกรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสกระชับความสัมพันธ์ทางการฑูต ไทย-สหรัฐอเมริกา ครบรอบ 190 ปี โดยมี นายระพีภัทร จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อาคารตรวจสอบรับรองสินค้าพืชแบบเบ็ดเสร็จ กรมวิชาการเกษตร อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตัดริบบิ้นเป็นปฐมฤกษ์ส่งส้มโอไทยชิปเม้นท์แรก มะม่วงครั้งแรกของฤดูกาลปี 2566 และมังคุด ไปยังกรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสกระชับความสัมพันธ์ทางการฑูต ไทย-สหรัฐอเมริกา ครบรอบ 190 ปี พร้อมกล่าวขอบคุณผู้แทนกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาที่ได้ให้การสนับสนุนผลไม้ไทยเป็นอย่างดีเสมอมา ซึ่งนับเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ รวมถึงผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ที่จะมีตลาดรองรับผลผลิตเพิ่มมากขึ้น โดยสหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สิ่งนี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงคุณภาพของผลไม้จากประเทศไทยที่สามารถผ่านการตรวจสอบด้านมาตรการสุขอนามัยของสหรัฐฯได้สำเร็จ โดย “ส้มโอ” นับเป็นผลไม้ชนิดที่ 8 ที่สามารถส่งออกไปจำหน่ายยังสหรัฐอเมริกาได้ ถัดจากมังคุด มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ สับปะรด และแก้วมังกร พร้อมกันนี้ รมช.เกษตรฯ ยังได้เน้นย้ำให้กรมวิชาการเกษตรต่อรองกับทางสหรัฐฯถึงความเป็นไปได้ในการลดระดับรังสีที่ต้องใช้สำหรับกำจัดศัตรูพืชในผลไม้ทั้ง 8 ชนิด เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประทานผลไม้สดจากประเทศไทยอย่างมีความสุข โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีโอกาสเพิ่มช่องทางการส่งออกในเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต
สำหรับโครงการผลไม้ฉายรังสี เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากข้อตกลง (Preclearance Program) ระหว่างกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ Animal and Plant Health Inspection Service (APHIS) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขอนามัยสัตว์และพืช ภายใต้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (United States Department of Agriculture: USDA)
โดยผู้ที่ประสงค์จะส่งออกผลไม้สดจากไทยไปสหรัฐฯ จะต้องนำผลไม้ที่ได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและมาตรฐานการผลิตที่ดีไปผ่านการฉายรังสีและตรวจรับรองโดยเจ้าที่หน้า APHIS ในประเทศไทย ก่อนการส่งออก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของศัตรูพืชและโรคต่างถิ่น