อธิบดีฯ และคณะ ศึกษาดูงาน บ.Kikitori ประเทศญี่ปุ่น
20 มิถุนายน 2566 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายอาทิตย์ สุกเหลือ ผู้อำนวยการกองแผนงาน นายสันทาน สีสา ผู้อำนวยกองพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร และคณะ เดินทางไปศึกษาดูงานบริษัท Kikitori (เขต Bunkyo กรุงโตเกียว) ประเทศญี่ปุ่น โดยมี Mr. Seiki UEMURA ประธานบริษัท Kikitori และผู้บริหารบริษัทฯ ให้การต้อนรับ
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายอาทิตย์ สุกเหลือ ผู้อำนวยการกองแผนงาน นายสันทาน สีสา ผู้อำนวยกองพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร และคณะ เดินทางไปศึกษาดูงานบริษัท Kikitori (เขต Bunkyo กรุงโตเกียว) ประเทศญี่ปุ่น โดยมี Mr. Seiki UEMURA ประธานบริษัท Kikitori และผู้บริหารบริษัทฯ ให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ อธิบดีฯ ได้กล่าวขอบคุณบริษัท Kikitori ที่ให้โอกาสได้มาเยี่ยมชมธุรกิจของบริษัท พร้อมกับกล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการเกษตรได้มีการพัฒนาไปอย่างมาก ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ทราบดีว่า บริษัท Kikitori เป็นบริษัทหนึ่งที่มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น Line มาปรับใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการสินค้าของสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศญี่ปุ่น และทางประเทศไทยมีความสนใจที่จะพัฒนานำเทคโนโลยีที่เข้าถึงง่ายเช่นนี้ไปปรับใช้ในการบริการสหกรณ์ในประเทศไทยเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีโอกาสมาที่บริษัท Kikitori และขอรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมการให้บริการดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการนำไปส่งเสริมสหกรณ์ในประเทศไทยต่อไป
สำหรับ บริษัท Kikitori (เขต Bunkyo กรุงโตเกียว) เริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 โดยความร่วมมือกับ Agri Venture Lab ของ JA Group พัฒนา “NIMARU JA” เพื่อใช้บริหารจัดการข้อมูลการรวบรวมสินค้าจากสมาชิกสหกรณ์และการจำแนกสินค้าสำหรับส่งจำหน่าย โดยใช้แอพพลิเคชั่น Line ในการสื่อสารระหว่างสหกรณ์กับสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งสมาชิกสหกรณ์มีหน้าที่กรอกจำนวนและลักษณะของสินค้าที่จะส่งจำหน่าย จากนั้นข้อมูลจะไปรวมที่สหกรณ์การเกษตร และสหกรณ์การเกษตรจะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการจัดสรรปริมาณสำหรับส่งจำหน่ายตามที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังสามารถจัดทำเอกสารส่งของโดยใช้ข้อมูลที่กรอกลงไปในแอพพลิเคชั่น ซึ่งวิธีดังกล่าวสามารถทดแทนการใช้โทรศัพท์หรือโทรสารในการสั่งสินค้าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งเกษตรกรสามารถใช้งานได้ง่าย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสหกรณ์การเกษตร และสามารถนำส่งข้อมูลได้ทันที จึงเป็นสาเหตุให้สหกรณ์การเกษตรหลายแห่งนำไปใช้ รวมไปถึงภายในปีงบประมาณนี้มีกำหนดจะเพิ่มฟังก์ชันเกี่ยวกับการรับออเดอร์สินค้า การบันทึกข้อมูลการปลูก และบันทึกข้อมูลการกำจัดแมลงศัตรูพืชอีกด้วย
ทั้งนี้ สหกรณ์การเกษตรของญี่ปุ่นได้หันมาใช้เครื่องมือดิจิทัลในการรวบรวมสินค้าเกษตรจากสมาชิก โดยการใช้เครื่องมือดิจิทัล “NIMARU JA” ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (SNS) โดยสหกรณ์การเกษตร (JA) เริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ขณะนี้มีสหกรณ์การเกษตรนำไปใช้แล้วประมาณ 60 แห่ง ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวจะรวบรวมข้อมูลการส่งจำหน่ายสินค้าเกษตรจากสมาชิกสหกรณ์ผ่านแอพพลิเคชั่น Line ทำให้สามารถส่งข้อมูลไปยังร้านจำหน่ายได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง นอกจากนี้ สหกรณ์การเกษตรบางแห่งยังใช้เครื่องมือดังกล่าวในการสื่อสารข้อมูลกลับไปยังสมาชิกสหกรณ์อีกด้วย
สหกรณ์การเกษตร JA Hainan จังหวัด Zhizuoka เป็นหนึ่งในสหกรณ์ที่เริ่มใช้ “NIMARU JA” สำหรับการรวบรวมผลผลิตสตรอเบอรี ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ซึ่งที่ผ่านมาสหกรณ์แห่งนี้จะทราบปริมาณรวบรวมสินค้าได้เฉพาะวันที่สมาชิกนำสินค้ามาส่งจริงเท่านั้น แต่ภายหลังจากใช้เครื่องมือดังกล่าว เกษตรกรสามารถส่งข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนได้ตั้งแต่คัดบรรจุเสร็จ ซึ่งทำให้สหกรณ์ทราบข้อมูลตั้งแต่ก่อนที่สินค้าจะนำส่งถึงสหกรณ์ ขณะเดียวกัน สหกรณ์ยังแจ้งผลการตรวจสอบคุณภาพและปริมาณการจำหน่ายผ่านเครื่องมือดังกล่าวให้เกษตรกรทราบในแต่ละวันอีกด้วย ด้านฝ่ายจำหน่ายของสหกรณ์ ระบุว่า เครื่องมือดังกล่าว ช่วยให้สหกรณ์สามารถแจ้งจำนวนให้กับกลุ่มลูกค้า เช่น บริษัทขนส่ง ฯลฯ ทราบล่วงหน้า ทำให้สะดวกในการเจรจาธุรกิจอีกด้วย