ตรวจประเมิน (Site Visit) รางวัลเลิศรัฐ สหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด
25 พฤษภาคม 2566 นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะกรรมการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ จากสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ
นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะกรรมการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ จากสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ เพื่อตรวจประเมิน ณ พื้นที่ปฏิบัติงาน (Site Visit) ในขั้นตอนที่ 2 ของรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ประจำปี 2566 ในชื่อผลงาน “สร้างรายได้ ขายผลผลิต พิชิตความจน คนสหกรณ์คอนสาร” ของสหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด โดยมี นายทวีศักดิ์ อสุชีวะ สหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ บุคลากรสำนักงานสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ และเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ให้การต้อนรับ ณ สหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด ตำบลดงบัง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
โอกาสนี้ คณะกรรมการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ ได้รับชม VTR การนำเสนอผลงาน “สร้างรายได้ ขายผลผลิต พิชิตความจน คนสหกรณ์คอนสาร” นำเสนอผลงานโดย ผู้แทนสำนักงานสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ และผู้แทนสหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด พร้อมร่วมตอบข้อซักถามของคณะผู้ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ ทั้งนี้ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการแนะนำ ส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์ปลูกพืชหมุนเวียนและส่งเสริมสมาชิกให้มีอาชีพเสริมจากอาชีพหลัก เช่น การเลี้ยงวัว การแปรรูปผลผลิตเกษตรฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งด้านอาชีพและรายได้ให้กับสมาชิกสหกรณ์ ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ ได้แก่ การสนับสนุนด้านเงินทุนการจัดหาเมล็ดพันธุ์ การจัดหาวัสดุการเกษตรต่างๆ ปัจจัยการผลิตต้นทุนต่ำ กลางน้ำ ได้แก่ การส่งเสริมด้านความรู้การเพาะปลูก และปลายน้ำ ได้แก่ การรวบรวมผลผลิต การเกษตรทุกชนิดจากสมาชิกสหกรณ์ในราคาที่เป็นธรรม รวมทั้งการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นแหล่งจำหน่ายผลผลิต และการเกษตรแปรรูป โดยเปิดเป็นร้านซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ซึ่งเป็นการสร้างพลังและอำนาจในการต่อรอง ลดต้นทุนการขนส่ง ส่งเสริมคุณภาพผลผลิตการเกษตรการแปรรูปผลผลิต เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ส่งเสริมการตลาดนำการผลิต รวมทั้งส่งเสริมการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในระดับสหกรณ์ และระดับสมาชิก โดยสหกรณ์เป็นศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลให้สมาชิกสหกรณ์มีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างรายได้ตลอดปี มีความอยู่ดีกินดี สหกรณ์มีความมั่นคง และสามารถเป็นที่พึ่งของมวลสมาชิกได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย