อธิบดีฯ ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ 2/66
30 มีนาคม 2566 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 2/2566 ผ่านระบบ Zoom Meeting
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 2/2566 ผ่านระบบ Zoom Meeting พร้อมด้วย นางสาววรรณพร บัณฑิตภูวนนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาสหกรณ์การเกษตร 2 กองพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 6 กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ โดยมี นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการประชุม
สำหรับในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ผ่านมา และได้ร่วมพิจารณาแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ปี 2566 ปริมาณ 1,140,384 ตัน แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลิ้นจี่) ปี 2566 ปริมาณ 34,620 ตัน ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ในสถาบันเกษตรกรของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ปี 2566 ได้แก่ แนวทางที่ 1 มาตรการด้านการผลิต สนับสนุนการผลิตผลไม้คุณภาพได้มาตรฐาน GAP จำนวน 1,200 ราย แนวทางที่ 2 มาตรการด้านการเงิน สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ จำนวน 75 ล้านบาท และแนวทางที่ 3 มาตรการด้านการตลาด สนับสนุนการกระจายผลไม้คุณภาพและเชื่อมโยงเครือข่ายของสถาบันเกษตรกร โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในการดำเนินโครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้เพื่อยกระดับราคาของสถาบันเกษตรกรโดยสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ในการกระจายผลไม้คุณภาพ ได้แก่ มังคุด ลำไย เงาะ ทุเรียน ลองกอง มะม่วง และลิ้นจี่ จำนวน 2,100 ตัน บรรจุภัณฑ์ตะกร้ารวม 371,390 ใบ งบประมาณ 6.594 ล้านบาท (70%) สถาบันเกษตรกรสมทบ 30% รวมงบประมาณ 9.420 ล้านบาท โดยใช้กลไกสหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมผลไม้และสนับสนุนการกระจายผลไม้คุณภาพเพื่อยกระดับราคาผลไม้ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก จะช่วยให้ดูดซับปริมาณผลไม้ออกนอกแหล่งผลิตสามารถลดการสูญเสียจากการขนส่ง ส่งผลต่อราคาและคุณภาพของผลไม้สามารถรักษาเสถียรภาพด้านราคาผลไม้ไม่ให้ตกต่ำ ซึ่งมีสหกรณ์ที่เป็นศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ หรือ CDC สหกรณ์สหกรณ์ระดับอำเภอ เครือข่ายสหกรณ์นอกภาคการเกษตร คู่ค่าทั่วไปทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ต่ำกว่า 500 แห่ง กระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต ราคาผลไม้มีเสถียรภาพ สร้างอำนาจการต่อรองผลผลิตของสมาชิกสหกรณ์และสถาบันเกษตรกรให้เป็นไปตามกลไกตลาดที่เป็นธรรม นอกจากนี้ สถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ มีการบริหารจัดการที่จัดสรรประโยชน์อย่างเป็นธรรมในการรับซื้อผลผลิตจากสมาชิก และผู้บริโภคได้รับผลไม้ที่มีคุณภาพและเป็นธรรม จากนั้น ในที่ประชุมได้พิจารณาในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย