ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์สว่าง ตำบลสว่าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี
21 มีนาคม 2566 นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วย นางวราลักษณ์ กุลบวรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกรม เขตตรวจราชการที่ 13 และ 14 นางอัญชลี ศรีหามาตย์ สหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์สว่าง ตำบลสว่าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี
นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วย นางวราลักษณ์ กุลบวรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกรม เขตตรวจราชการที่ 13 และ 14 นางอัญชลี ศรีหามาตย์ สหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์สว่าง ตำบลสว่าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีผลงานเด่นต้นแบบการนำเสนอขอรับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี 2566 ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ชื่อผลงาน “ร่วมแก้ไขปัญหา ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ พัฒนาคุณภาพชีวิต สมาชิกกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์สว่าง” พร้อมให้คำแนะนำในการดำเนินงาน โดยมี นายชัยพร ใจสุข ประธานกรรมการกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์สว่าง คณะกรรมการดำเนินงาน สมาชิกกลุ่มฯ ให้การต้อนรับ
กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์สว่าง จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2545 มีฐานะเป็นนิติบุคคล ปัจจุบันมีสมาชิก 81 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาและเลี้ยงโคกระบือเป็นหลัก เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง เกษตรกรประสบปัญหาการขาดแคลนหญ้าเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเกษตรกรมีการเลี้ยงโคกระบือเพิ่มขึ้น พื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ลดลง และผลกระทบจากการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช จึงทำให้หญ้าตามธรรมชาติสูญหายไป ซึ่งโคกระบือ 1 ตัว ต้องการกินหญ้าประมาณ 20 - 30 กิโลกรัม ปี 2548 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้ามามีบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแล แนะนำส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการกลุ่ม เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินการเพื่อวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ศักยภาพและประเมินสถานการณ์กลุ่มเกษตรกรฯ หาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน คือ การส่งเสริมการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ให้แก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรฯ จึงได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการดำเนิน "กิจกรรมการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ในครัวเรือน" ในระยะแรกได้คัดเลือกพันธุ์หญ้าที่จะนำมาปลูก คือ หญ้าอะตราตั้ม หญ้ากินนีสีม่วง และหญ้าเนเปียร์ โดยมีลักษณะใบใหญ่เรียว เติบโตเร็ว โปรตีนสูง ทนแล้งได้ดี และเป็นที่นิยมของตลาดในช่วงนั้น
สมาชิกกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์สว่าง ได้เข้าร่วมกิจกรรมการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ในครัวเรือน จำนวน 81 คน โดยมีสมาชิกผู้ปลูกหญ้าเพื่อการเลี้ยงสัตว์พร้อมการจำหน่าย จำนวน 50 คน ในปัจจุบันพันธุ์หญ้าที่สมาชิกปลูกมากที่สุด ได้แก่ หญ้ากินนีมอมบาซา หญ้ากินนีมูนริเวอร์ และหญ้าเนเปียร์ โดยมีจุดเด่นคือ ใบใหญ่ คุณภาพโปรตีนสูง ต้านทานโรค ทนแล้งได้ดี และเป็นที่นิยมของตลาด สมาชิกมีพื้นที่ปลูกหญ้าประมาณ 2 – 3 ไร่/คน ให้ผลผลิตหญ้าสดเฉลี่ย 3 - 4 ตัน/ไร่ ผลการจำหน่ายหญ้าสดของสมาชิกประจำปี 2564 ปริมาณ 4,590 ตัน ราคาตันละ 1,000 บาท มูลค่ารวม 4.59 ล้านบาท และผลการจำหน่ายหญ้าสดของสมาชิก ปี 2565 ปริมาณ 5,670 ตัน ราคาตันละ 1,000 บาท มูลค่ารวม 5.67 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี สนับสนุนแหล่งเงินทุนหมุนเวียนจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ พร้อมด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน และกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์สว่าง ได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนหญ้าเลี้ยงสัตว์ในช่วงฤดูแล้ง โดยร่วมกันคิด ร่วมกันทำงาน ร่วมกันใช้ทรัพยากร ส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถลดต้นทุนการผลิต สามารถสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกอย่างยั่งยืน สมาชิกมีแหล่งจำหน่ายผลผลิตที่แน่นอน ลดการย้ายถิ่นฐานไปทางานต่างจังหวัด เกิดการสร้างกิจกรรมร่วมกันภายในชุมชน และหญ้าเป็นพืชคลุมดิน ช่วยปกป้องหน้าดิน ปรับสภาพดินและรักษาสิ่งแวดล้อมชุมชน นอกจากนี้ ยังส่งผลประโยชน์ในการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์สว่าง สำหรับปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2565 มีทุนดำเนินงานมากกว่า 2.549 ล้านบาท
สำหรับแผนการดำเนินงานปี 2566 แผนการส่งเสริมอาชีพ กิจกรรมการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ในครัวเรือน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกร การรับสมัครสมาชิกใหม่ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคการเกษตร เกิดการพึ่งพาตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชน มีการถ่ายทอดบทเรียนความสำเร็จในการดำเนิน “กิจกรรมการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ในครัวเรือน” ให้แก่นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ภาครัฐและเอกชน รวมทั้งได้ศึกษาค้นคว้าและทดลองแปรรูปหญ้าหมัก หญ้าอัดเม็ด และอาหารสำเร็จรูป (TMR) เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง ได้แก่ โค กระบือ แพะ แกะ เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรฯ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการขับเคลื่อนกิจกรรมการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ในครัวเรือนให้เป็นรูปธรรม มั่นคงและยั่งยืนต่อไป