การอภิปรายหัวข้อ การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีฯ ในขบวนการสหกรณ์
16 กุมภาพันธ์ 2566 นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นวิทยากรอภิปราย ในหัวข้อ "การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมในขบวนการสหกรณ์ "ภายใต้โครงการประชุมทางวิชาการ “การขับเคลื่อนแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 มุ่งสู่การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม ในขบวนการสหกรณ์อย่างไร”
นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นวิทยากรอภิปราย ในหัวข้อ "การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมในขบวนการสหกรณ์ "ภายใต้โครงการประชุมทางวิชาการ “การขับเคลื่อนแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 มุ่งสู่การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม ในขบวนการสหกรณ์อย่างไร” โดยมี ดร.ประเสริฐ จรรยาสุภาพ นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์สหกรณ์แห่งประเทศไทย ผู้แทนสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และผู้แทนชุมนุมสหกรณ์ ร่วมอภิปราย ณ โรงแรมเชียงใหม่ แกรนด์วิว โฮเต็ล & คอนเว็นชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
โอกาสนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริสหกรณ์ ได้กล่าวถึงเรื่องแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 ซึ่งได้มีการหารือกันในหลายด้าน ทั้งประเด็นปัญหา จุดแข็งและจุดอ่อนของสหกรณ์ ที่สำคัญคือ ได้มีการนำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาดู เพื่อที่จะสามารถพัฒนามาเป็นขบวนการเดียวกัน และออกมาเป็นแผนพัฒนาการสหกรณ์ 5 ปี สำหรับในส่วนของวิสัยทัศน์ สิ่งแรกที่สำคัญ คือ สหกรณ์ต้องมีความเข้มแข็ง และยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของสมาชิกสหกรณ์ให้ดีขึ้นอย่างมั่นคง ผลักดันให้สหกรณ์เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตร สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นความต้องการของตลาด ส่งเสริมให้สหกรณ์ภาคการเกษตรบูรณาการร่วมกัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ รวมทั้งนำงานวิจัย และ KM ต่างๆ ที่มีประโยชน์มาช่วยผลักดันให้เกิดประโยชน์ สามารถตอบสนองความต้องการของสมาชิก รวมไปถึงเรื่องการหาช่องทางการตลาด
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันนั้น เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จะต้องมีความรู้ความสามารถที่จะส่งเสริม แนะนำ กำกับ ดูแลพัฒนาสหกรณ์ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในบริบทของสังคม รวมทั้งด้านเศรษฐกิจด้วย สำหรับในส่วนสหกรณ์นอกภาคการเกษตร เน้นย้ำการยกระดับในเรื่องการกำกับ การส่งเสริมสหกรณ์ให้มีความปลอดภัยในเรื่องการเงิน พัฒนาระบบ เครื่องมือให้สหกรณ์นำไปใช้กับสมาชิก เพื่อให้มีความปลอดภัยและยั่งยืน นอกจากนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มีการทำ MOU ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ในเรื่องของการชูอัตลักษณ์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า กระบวนการคิด การออกแบบ การผลิตสินค้าของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีคุณภาพและมีความโดเด่น ซึ่งถือเป็นการสะท้อนอัตลักษณ์ของสหกรณ์อีกด้วยด้วย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าข้าว ผลไม้ นม ยางพารา มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาเรื่อยๆ รวมทั้งนำผลงานวิจัยมาพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เป็นรูปธรรม ตลอดจนเป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางสินค้าเกษตรอีกด้วย