โครงการประชุมทางวิชาการ “การขับเคลื่อนแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 มุ่งสู่การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม ในขบวนการสหกรณ์อย่างไร”
16 กุมภาพันธ์ 2566 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมพิธีเปิด (Kick off) โครงการประชุมทางวิชาการ “การขับเคลื่อนแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 มุ่งสู่การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม ในขบวนการสหกรณ์อย่างไร”
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมพิธีเปิด (Kick off) โครงการประชุมทางวิชาการ “การขับเคลื่อนแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 มุ่งสู่การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม ในขบวนการสหกรณ์อย่างไร” โดยมี นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ ประธานร่างแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ นายอัชฌา สุวรรณ์นิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ จรรยาสุภาพ นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์สหกรณ์แห่งประเทศไทย ผู้แทนสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และผู้แทนชุมนุมสหกรณ์ เข้าร่วมพิธีเปิด ณ โรงแรมเชียงใหม่ แกรนด์วิว โฮเต็ล & คอนเว็นชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
โอกาสนี้ อธิบดีฯ บรรยายในหัวข้อ “แนวทางส่งเสริมสหกรณ์ ตามแผนพัฒนาสหกรณ์ ฉบับที่ 5” ได้กล่าวถึง แบรนด์ที่ยั่งยืน (Sustainable Brand) บนพื้นฐานที่ต้องตระหนัก 3 ด้าน คือ ด้านการสร้างกำไรและเศรษฐกิจอย่างมีธรรมาภิบาล ด้านการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม และด้านการมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมสหกรณ์มีแนวทางการขับเคลื่อนและส่งเสริมสหกรณ์ ในยุทธศาสตร์ที่ 7 พัฒนาสมรรถนะ ทักษะ และกรอบคิด (Mindset) ของบุคลากรสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งการพัฒนาบุคลากรสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร รู้หน้าที่ ธรรมาภิบาล การบริหารจัดการสหกรณ์ การดำเนินธุรกิจ ส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ตามโครงการนำลูกหลานเกษตรกลับบ้านฯ ให้สหกรณ์ร่วมขับเคลื่อนนำคนรุ่นใหม่กลับเข้ามาในระบบสหกรณ์ให้มากขึ้น ในด้านยุทธศาสตร์ที่ 8 สร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมความร่วมมือของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร และสร้างเครือข่ายด้วยการใช้หลักธรรมาภิบาล และการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพให้สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร การแก้ไขปัญหาหนี้สินการส่งเสริมอาชีพให้สมาชืกสร้างรายได้รายวัน รายเดือน รายปี ลดค่าใช้จ่าย ส่งเสริมการขุดสระน้ำในไร่นา ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ปลูกไม้ยืนต้น มีรายได้จนสามารถชำระหนี้ได้ และได้รับพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจสินเชื่อสหกรณ์ ให้สินเชื่อแก่สมาชิกที่เหมาะสม ส่งเสริมให้สมาชิกมีส่วนร่วมกับการดำเนินงานของสหกรณ์เพิ่มขึ้น สหกรณ์ดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ยุทธศาสตร์ที่ 9 พัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มหรือขยายธุรกิจ ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร ยกระดับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเป็นผู้ประกอบธุรกิจ สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อรวบรวมสินค้าและการส่งออก ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถแข่งขันได้ พัฒนาด้านการตลาดออนไลน์ เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนสหกรณ์ให้มีความมั่นคงยั่งยืนมีมาตรฐานในการดูแลสมาชิกที่ดีและมีการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ และต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีแนวทางการขับเคลื่อน 3 ระยะ อาทิ ปี 2566 สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร มีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมลดลงหรือมีกำไร ส่งเสริมอาชีพและคุณภาพชีวิตสมาชิก อาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เช่น ปลูกข้าวโพดหลังนา เป็นต้น การให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการหนี้สิน ปี 2567 - 2568 สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ยกระดับขีดความสามารถในการบริหารจัดการและการแข่งขันของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาสมรรถนะภาพและทักษะบุคลากรสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ด้านการใช้ข้อมูลประกอบการดำเนินธุรกิจและทักษะด้านธุรกิจ และ ปี 2569 - 2570 ส่งเสริมให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูงภายใต้หลักธรรมาภิบาลเป็นผู้ประกอบธุรกิจเพื่ออำนวยผลประโยชน์ให้กับสมาชิกและชุมชน
ทั้งนี้ คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ ได้ดำเนินการ จัดทำแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 แล้วเสร็จ และประกาศใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นมา ถือเป็นการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของขบวนการสหกรณ์ที่สำคัญ ในช่วงปี 2566 - 2570 โดยทิศทางในการพัฒนาระบบสหกรณตามแผนพัฒนาการสหกรณ ฉบับที่ 5 เน้นพัฒนาตามแนวทางการพัฒนาให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และยึดหลักการ วิธีการ อุดมการณ์สหกรณ์ ซึ่งเป็นคุณค่าสําคัญที่สุดเป็นจุดแข็งของการพัฒนาสหกรณ์ ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการพัฒนาภายใต้ระยะเวลา 5 ปี และคํานึงถึงการต่อยอดให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างต่อเนื่องภายใต้แผนพัฒนาการสหกรณ์ในฉบับต่อ ๆ ไป
ดังนั้น การพัฒนาขบวนการสหกรณ์ตามแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 เพื่อขับเคลื่อนสหกรณ์ท่ามกลางความท้าทายของปัญหาและบริบทการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สหกรณ์มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีวิสัยทัศน์ คือ สหกรณ์เข้มแข็งและเป็นองค์กรสมรรถนะสูงด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก มีพันธกิจเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพสูง มีเสถียรภาพและธรรมาภิบาลเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูง (High Performance Organization : HPO) และมีความยั่งยืน เพื่อยกระดับขีดความสามารถเชิงธุรกิจสหกรณ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้บริการสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกสหกรณ์และชุมชนให้มีความมั่นคงสามารถพึ่งพาตนเองได้ตลอดจนมีรายได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายลดลง ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสหกรณ์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการในสหกรณ์สู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการขับเคลื่อนองค์กรและดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศ ยุทธศาสตร์การยกระดับศักยภาพและสมรรถนะการดำเนินธุรกิจตามลักษณะธุรกิจและประเภทของสหกรณ์ ยุทธศาสตร์สร้างการเชื่อมโยงและร่วมมือกันทางธุรกิจและสังคมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์การสร้างธรรมาภิบาลในสหกรณ์ และยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ขบวนการสหกรณ์และภาครัฐเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยมีเป้าหมายหลัก คือ สหกรณ์มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น สหกรณ์เป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูงเพิ่มขึ้น และสหกรณ์นําเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้บริการสมาชิก
สำหรับโครงการประชุมทางวิชาการ “การขับเคลื่อนแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 มุ่งสู่การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม ในขบวนการสหกรณ์อย่างไร” จัดขึ้นโดย สมาคมเศรษฐศาสตร์สหกรณ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์ร้านค้าแห่งประเทศไทย และชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ สร้างความรู้ความเข้าใจในสาระสำคัญของแผนพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ ฉบับที่ 5 และรับทราบถึงทิศทางการส่งเสริมสหกรณ์ของภาครัฐและแนวทางการขับเคลื่อนสหกรณ์สู่แผนพัฒนาฯ รวมทั้งระดมความคิดเห็นถึงแนวทางพัฒนาสหกรณ์ตามแผนฯ โดยเน้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ประยุกต์ใช้ในขบวนการสหกรณ์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการให้บริการแก่สมาชิกทำให้เกิดการขยายตัวทางธุรกิจให้ทัดเทียมองค์กรเอกชนอื่น โดยมี บุคลากรและเจ้าหน้าที่ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมสหกรณ์ บุคลากรของสหกรณ์ และผู้ที่สนใจ จำนวน 250 คน