เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังฯ ด้านการผลิต ครั้งที่ 1/2566
15 กุมภาพันธ์ 2566 นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังฯ ด้านการผลิต ครั้งที่ 1/2566 ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meetings) โดยมี นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการประชุม
นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังฯ ด้านการผลิต ครั้งที่ 1/2566 ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meetings) โดยมี นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 6 กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพมหานคร
ในการนี้ ที่ประชุมได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปี พ.ศ.2564-2567 ด้านการผลิต ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังฯ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม พร้อมรับทราบสรุปข้อหารือข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มันสำปะหลังด้านการผลิต ซึ่งประชุมไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันพิจารณาร่างการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มันสำปะหลัง ปี พ.ศ.2564-2567 ด้านการผลิต โดยยึดหลักการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเป็นสำคัญ
สำหรับยุทธศาสตร์มันสำปะหลัง ปี พ.ศ.2564-2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตและการค้ามันสำปะหลังคุณภาพอันดับหนึ่งของโลกอย่างต่อเนื่อง ระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ.2564-2567)โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ 1.สร้างมูลค่าการส่งออกให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 3% ทุกปีต่อเนื่อง 2.ดำเนินการให้ราคามันสำปะหลังของเกษตรกรในประเทศมีเสถียรภาพ และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย 3.ดำเนินการให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงต้นพันธุ์ที่ต้านทานโรค เชื้อแป้งสูงและสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ในปี 67 ไม่ต่ำกว่า 5 ตันต่อไร่ ภายใต้มาตรการ 3 ด้าน ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการขับเคลื่อนฯ ประกอบด้วย
1.ด้านการผลิต
- พัฒนาพันธุ์ เพื่อนำไปสู่พันธุ์ต้านทานโรคใบด่าง เชื้อแป้งสูงและผลผลิตต่อไร่สูง
- ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ จากปัจจุบันประมาณ 3.6 ตันต่อไร่ เป็นไม่ต่ำกว่า 5 ตันต่อไร่ในปี 67
- พัฒนาคุณภาพมันฯตามความต้องการของตลาดโดยใช้ “ตลาดนำการผลิต”
- สร้างกลุ่มและรวมกลุ่ม เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศผู้ซื้อ
2.ด้านตลาดในประเทศ
- รักษาสมดุลด้านเสถียรภาพของราคาสำหรับตลาดในประเทศ
- ส่งเสริมการขาย หรือผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังผ่านช่องทางตลาดที่มีความหลากหลาย
- ส่งเสริมการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
3.ด้านตลาดต่างประเทศ หรือการส่งออก
- ขยายตลาดส่งออกไปยังหลากหลายประเทศมากขึ้น แทนการพึ่งพาตลาดจีนเพียงอย่างเดียว
- ส่งเสริมการส่งออกสินค้ามูลค่าเพิ่ม จากผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแปรรูป ซึ่งใช้นวัตกรรมมากขึ้น และส่งเสริมการรวมกลุ่มประเทศผู้ผลิต ผู้ส่งออกทั้งภาครัฐ เอกชน เพื่ออำนาจการต่อรองกับผู้ซื้อ เป็นต้น