เปิดงานรณรงค์การถ่ายทอดเทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิตข้าวให้ปฏิบัติได้จริง ภายใต้โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
8 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานรณรงค์การถ่ายทอดเทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิตข้าวให้ปฏิบัติได้จริง ภายใต้โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานรณรงค์การถ่ายทอดเทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิตข้าวให้ปฏิบัติได้จริง ภายใต้โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยมี นายชนาส ชัชวาลวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายสุริยัน ทองธรรมชาติ สหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นเกียรติในงาน ณ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอำนาจเจริญ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมการข้าวจัดขึ้นเพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั่วประเทศและประชาชนทั่วไปที่สนใจการพัฒนาการผลิตข้าว มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการลดต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิตข้าว และแก้ไขปัญหาในการผลิตข้าวที่ปรับตัวและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการแสดง/สาธิต เทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิตข้าวที่เหมาะสม เป็นการยกระดับคุณภาพมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มคุณภาพและเพิ่มผลตอบแทนในการผลิตข้าวคุณภาพดีต่อไป โดยกิจกรรมภายในงาน มีการจัดแสดงนิทรรศการและสาธิตการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่เพื่อลดต้นทุนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การยกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว การผลิตข้าวคุณภาพดีเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น รวมทั้งนิทรรศการทางการเกษตรอื่น ๆ จากหน่วยงานราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว สินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าเกษตรปลอดภัย จากกลุ่มเกษตรกรและชุมชนเกษตรต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ
โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ข้าวเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยและสังคมไทยอย่างยิ่ง จากข้อมูลการปลูกข้าว ปี 2563/64 ทั้งประเทศ มีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 70 ล้านไร่ มีผลผลิตข้าวประมาณ 31 ล้านตันข้าวเปลือก สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุดของประเทศอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านไร่ มีผลผลิตข้าวประมาณ 14 ล้านตันข้าวเปลือก โดยพันธุ์ข้าวที่นิยมปลูก คือ ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15 ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำเป็นต้องมีความรู้และเข้าใจในการนำเทคโนโลยีทางเกษตรสมัยใหม่ และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมาช่วยลดต้นทุนการผลิตและยกระดับมาตรฐานการผลิตข้าว เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งให้ความสำคัญกับการผลิตที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลักดันการแปรรูป เกษตรมูลค่าสูง และใช้การตลาดสมัยใหม่ ทั้งด้านการผลิตและจำหน่ายด้วย
ทั้งนี้ ข้าวคุณภาพดีส่วนหนึ่งจะต้องมาจากเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีมาตรฐาน ในขณะที่เราต้องการผลิตข้าวคุณภาพดีให้ได้ปริมาณมากเพียงพอต่อการบริโภคทั้งภายในประเทศและการส่งออกเพื่อนำรายได้เข้าประเทศแล้ว เราจึงต้องการปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐานด้วย ซึ่งในปีการผลิต 2565/66 ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีได้ประมาณ 95,000 ตัน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวของทั้งประเทศที่อยู่ประมาณ 1.33 ล้านตัน โดยนอกเหนือจากสหกรณ์การเกษตรและภาคเอกชนที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบางส่วนแล้ว กระทรวงเกษตรฯ ยังสนับสนุนศูนย์ข้าวชุมชนให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญและใกล้ตัวเกษตรกรที่สุดที่จะมาเติมเต็มปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีที่ยังขาดแคลน ตามหลักการของศูนย์ข้าวชุมชนที่ “ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเองโดยชุมชน แล้วกระจายไปสู่ชุมชนของตนเองและชุมชนข้างเคียงอย่างมีคุณภาพ”
"การจัดงานครั้งนี้ หวังว่าจะมีส่วนกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมงาน ให้รับรู้และเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ มาใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวที่เหมาะสม และการยกระดับมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมไปถึงการสร้างโอกาสในการเพิ่มคุณภาพผลผลิต และเพิ่มมูลค่าทางการค้าจากการผลิตข้าวคุณภาพดี โดยเน้นการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดตามนโยบายการตลาดนำการผลิต นำไปสู่การจัดการสินค้าเกษตรสู่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะไม่ทอดทิ้งเกษตรรายย่อยด้วย พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร โดยจะดูแลพี่น้องเกษตรกรให้เหมือนเป็นคนในครอบครัว และต้องเอาพี่น้องเกษตรกรเข้ามาเป็นครอบครัวด้วยเช่นกัน เพราะปัญหาจะสามารถพูดคุยและแก้ไขได้ง่ายยิ่งขึ้น เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง หากเกษตรกรมั่นคงและมั่งคั่ง จะทำให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียน และทำให้ประเทศชาติมั่นคงตามไปด้วย" ดร.เฉลิมชัย กล่าว