หารือถึงแนวทางการทำธุรกิจ Logistics และแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.)
2 กุมภาพันธ์ 2566 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้การต้อนรับ นายสุภาษิต ศุภวุฒิ และนายเชษฐา แหล่ป้อง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายบัณฑิต ดีเหมาะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักพัฒนาลูกค้าสถาบันและองค์กรชุมชน และคณะ
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้การต้อนรับ นายสุภาษิต ศุภวุฒิ และนายเชษฐา แหล่ป้อง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายบัณฑิต ดีเหมาะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักพัฒนาลูกค้าสถาบันและองค์กรชุมชน และคณะ ในโอกาสขอเข้าพบเพื่อหารือถึงแนวทางการทำธุรกิจ Logistics และแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) โดยมี นายสันทาน สีสา ผู้อำนวยการกองพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการกลุ่ม เข้าร่วมหารือ ณ ห้องประชุม ชั้น 6 กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพมหานคร
โอกาสนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนสหกรณ์การเกษตร และ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ในปี พ.ศ. 2566 เกี่ยวกับทิศทางการดำเนินงาน ซึ่งจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้สหกรณ์การเกษตรในการยกระดับหรือรักษาระดับสหกรณ์ให้อยู่ในชั้นที่ 1 หรือ ชั้นที่ 2 และในเรื่องของภาวะการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรในภาวะปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ซึ่งจะต้องทำในเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ รวมถึงการเติมสินเชื่อใหม่ให้กับสมาชิกที่มีกำลังทำการเกษตรและมีรายได้เพิ่มขึ้นมาชำระหนี้ได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ในเรื่องการส่งเสริมอาชีพ เน้นให้สมาชิกมีรายได้รายวัน รายเดือน และรายปี รวมถึงการนำผลิตภัณฑ์ของสมาชิกมาต่อยอดในเรื่องของการสร้างผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่า เน้นเรื่องการให้เป็นผู้ประกอบธุรกิจการเกษตร เช่น เรื่องของอุปกรณ์การตลาดที่ให้ไป ไม่ว่าจะเป็นฉาง ลานตาก เครื่องอบ โดยสมาชิกใช้อุปกรณ์การตลาดเหล่านี้ เพื่อที่จะนำผลผลิตของสหกรณ์มาดำเนินการปรับปรุงหรือแปรรูป สร้างบรรจุภัณฑ์ใหม่ ทำการตลาดทั้ง Online และ Offline เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า และทำกับทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพืชสวน พืชไร่ ประมง และปศุสัตว์
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) นั้น ทิศทางการขับเคลื่อนจะคล้ายกับสหกรณ์การเกษตร เน้นเรื่องการแปรรูป การรวบรวมผลผลิต การสร้างตลาด และการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า รวมทั้งการกระจายสินค้า การแลกเปลี่ยนระหว่างภาคต่อภาค และการเป็นจุดกระจายสินค้าให้กับสหกรณ์ในแต่ละภูมิภาค 9 แห่ง ซึ่งเป็นจุดที่ทำหน้าที่กระจายสินค้าไปยังสหกรณ์ เพื่อส่งต่อไปยังภูมิภาคอื่น รวมทั้งเรื่องของการทำหน้าที่ Logistic ของ สกต. ให้เป็นจุดส่งออกสินค้าร่วมกับพาร์ทเนอร์ในเรื่อง Logistics เช่น SCG และไปรษณีย์ไทย เป็นต้น