ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรตะกั่วป่า จำกัด ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
30 มกราคม 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรตะกั่วป่า จำกัด ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยมี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรตะกั่วป่า จำกัด ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยมี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายสุทยุต พูลสมบัติ สหกรณ์จังหวัดพังงา หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ คณะกรรมการสหกรณ์ สมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกรในพื้นที่ ให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม MOU การซื้อ-ขายสินค้าเกษตรระหว่างผู้ประกอบการ และเกษตรกร ตามนโยบาย “พังงาครัวอันดามัน” และมอบเงินอุดหนุนจาก การยางแห่งประเทศไทยในการสร้างอาคารรวบรวมผลผลิต มูลค่า 5,395,448 ล้านบาท มอบปัจจัยการผลิตให้กับตัวแทนเกษตรกรแปลงใหญ่ยางพาราสหกรณ์การเกษตรตะกั่วป่า จำกัด จำนวน 10 ราย มอบโฉนดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จำนวน 20 ราย มอบพันธุ์ปลาน้ำจืด (ปลาสุลต่าน) จำนวน 50,000 ตัว ให้กับผู้แทนเกษตรกร 10 ราย ร่วมกิจกรรมนำร่องการใช้นวัตกรรมเจาะต้นยางพาราร่วมการใช้แก๊สเอทธิลีนเพิ่มผลผลิตยางพารา และเยี่ยมชมนิทรรศการงานวัน Field Day ของหน่วยงานราชการในพื้นที่จังหวัดพังงาด้วย
จากนั้น ได้กล่าวมอบนโยบาย และพบปะเกษตรกร และเป็นประธานในพิธีเปิดป้ายอาคารรวบรวมผลผลิตการเกษตรของสหกรณ์ฯ ซึ่งได้รับงบอุดหนุนเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารรวบรวมผลผลิตยางพารา ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย มาตรา 49(3) วงเงิน 5,395,448 บาท เพื่อใช้เป็นอาคารรวบรวมผลผลิตยางพาราของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า และอำเภอใกล้เคียง สามารถรองรับการรวบรวมผลผลิตยางพาราของสมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกรทั่วไป ไม่น้อยกว่า 1,500 ตัน/ปี และเพื่อจัดตั้งเป็นตลาดเครือข่าย ตลาดกลางยางพาราจังหวัดพังงา ทั้งนี้ สหกรณ์ฯ ได้ดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการส่งเสริมการทำสวนยางพารารูปแบบแปลงใหญ่ ได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้สมาชิก อาทิ ปุ๋ยเคมี, พันธุ์ไม้ และส่งเสริมพัฒนาให้เกษตรกรผลิตยางคุณภาพดี (มาตรฐาน GAP) เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และรักษาสิ่งแวดล้อม มีการรวมกลุ่มเพื่อรวมรวมสินค้า สร้างอำนาจต่อรองราคา ในปี พ.ศ. 2565 ได้ส่งเสริมการจัดการสวนยางพาราตามแนวทางการทำสวนยางแบบยั่งยืน (BCG model) รวมทั้ง ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายในจังหวัด สำหรับ อาคารรวบรวมผลผลิตยางพาราของสหกรณ์การเกษตรตะกั่วป่า จำกัด แห่งนี้ นอกจากรวบรวมผลผลิตยางพารา ยังสามารถรวบรวมผลผลิตจากกลุ่มแปลงใหญ่ ต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาชีพ ทางด้านสุขภาพ และความมั่นคงทางรายได้ ให้เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่จังหวัดพังงาต่อไป
สหกรณ์การเกษตรตะกั่วป่า จำกัด จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2511 ปัจจุบันมีสมาชิก 920 ราย ดำเนินธุรกิจ 4 ด้าน ดังนี้ ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจรับฝากเงิน และธุรกิจรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ยางก้อนถ้วย และมังคุด สหกรณ์มีทุนดำเนินงานมากกว่า 92 ล้านบาท ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดพังงา ได้สนับสนุนงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์การตลาด อาทิ ฉาง ลานตาก เครื่องชั่ง เครื่องตัดหญ้าสะพายหลัง ทั้งนี้ สหกรณ์ฯ ได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคแก่สมาชิก เชื่อมโยงเครือข่ายสินค้ากับสหกรณ์ทั้งในและนอกจังหวัด และนำสินค้า/ผลิตภัณฑ์ของสมาชิกมาจำหน่ายร้านค้าซูเปอร์มาร์เก็ต สหกรณ์ ดำเนินการส่งเสริมให้ความรู้ พัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรให้กับสมาชิกสู่มาตรฐาน GAP ส่งเสริมให้สมาชิกทำการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ได้แก่ การเลี้ยงสัตว์ การปลูกไม้ผล การปลูกพืชผักสวนครัว และส่งเสริมการใช้ปุ๋ยสั่งตัด โดยการให้บริการตรวจสภาพดินแก่สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งได้ส่งเสริมอาชีพสมาชิก ส่งเสริมกลุ่มอาชีพ กลุ่มแม่บ้านทำเครื่องแกง ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพสังกัดสหกรณ์ ส่งเสริมสมาชิกในการดำเนินการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชผักไว้บริโภคในครัวเรือน เมื่อเหลือจากการบริโภคนำมาฝากขายที่สหกรณ์สร้างรายได้เสริมให้แก่สมาชิก โดยในอนาคตได้วางแผนการดำเนินงานในการเพิ่มปริมาณการรวบรวมผลผลิตทางเกษตร ทั้งการรวบรวมยางพารา และผลไม้ตามฤดูกาล ส่งเสริมสมาชิกผลิตสินค้าคุณภาพตามมาตรฐาน GAP และส่งเสริมสมาชิกดำเนินการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ด้วย