การประชุมหารือเกี่ยวกับโครงการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในเขตการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าพรุ ด้วยการพัฒนาแบบยั่งยืน และการพัฒนาระเบียบวิธีคำนวณคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าพรุ
27 มกราคม 2566 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับโครงการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในเขตการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าพรุ ด้วยการพัฒนาแบบยั่งยืน และการพัฒนาระเบียบวิธีคำนวณคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าพรุ
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับโครงการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในเขตการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าพรุ ด้วยการพัฒนาแบบยั่งยืน และการพัฒนาระเบียบวิธีคำนวณคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าพรุ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ สามารถขยายผลกับป่าพรุที่อื่น ๆ ของประเทศ แลเพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามระเบียบของกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นิคม และการสนับสนุนข้อมูลต่าง ๆ ในพื้นที่นิคม รวมทั้งร่วมกันพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ ก่อนที่ทางสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริจะได้ดำเนินการในระดับพื้นที่ต่อไป โดยมี นายวีรเทพ พิรโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ นางรอซนานี สันหมุด หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม นางสาวโสภิดา ศรัทธารัตน์ สหกรณ์จังหวัดนราธิวาส ผู้อำนวยการกอง/สำนัก และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 6 กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพมหานคร
สำหรับโครงการดังกล่าว มีสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืนสานแนวพระราชดำริ เป็นหน่วยงานหลัก และมีหน่วยงานสนับสนุน อาทิ กรมส่งเสริมสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งจะดำเนินการในพื้นที่ป่าพรุบาเจาะ 5,000 ไร่ 5 หมู่บ้าน 2 ตำบลในอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งในขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินการระยะแรก มีการทำความเข้าใจกับภาคี สถาบันการศึกษา แต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด พัฒนาเครื่องมือจัดเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างความเข้าใจในระดับพื้นที่ และลงสำรวจสภาพพื้นที่เบื้องต้น รวมทั้งเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์พื้นที่ สร้างความรู้ความเข้าใจกับชุมชนเป้าหมาย จากนั้นจะดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผล เตรียมนำเสนอคณะทำงาน และการคืนข้อมูลชุมชนเพื่อนำไปสู่การดำเนินการขั้นต่อไป สำหรับการดำเนินการในระยะต่อไปจะมีการนำร่องการพัฒนาโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูพรุบาเจาะ (Pilot project) จะประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าพรุ ตามระเบียบวิธีการและเครื่องมือที่ได้รับอนุมัติจาก องค์การบริการจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. พร้อมทั้งร่วมกับชุมชนจัดทำแผนอนุรักษ์และฟื้นฟู พัฒนากลไกความร่วมมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าพรุแบบมีส่วนร่วม และกลไกทางการเงิน เช่น กองทุนการดูแลป่า เพื่อรับรายได้จากค่าคาร์บอนเครดิต