ลงพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประชุมรับฟัง ติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของสมาชิกสหกรณ์นิคมบางสะพาน จำกัด
18 มกราคม 2566 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประชุมรับฟัง ติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของสมาชิกสหกรณ์นิคมบางสะพาน จำกัด พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประชุมรับฟัง ติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของสมาชิกสหกรณ์นิคมบางสะพาน จำกัด พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายประยูร พะมะ สหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายนิตย์ ตั่นอนุพันธ์ ผู้แทนสมาชิกสหกรณ์นิคมบางสะพาน จำกัด ดร.สาธุ อนุโมทามิ ที่ปรึกษาเครือข่าย 13 นิคม 14 ป่า หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสหกรณ์ และประชาชนในพื้นที่ ให้การต้อนรับ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลทองมงคล ตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ปัญหาที่ดินทำกินในสหกรณ์นิคมบางสะพาน เป็นปัญหาที่มีมานานกว่า 40 ปี กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่าง กรมส่งเสริมสหกรณ์ และเครือข่ายนิคมสหกรณ์ 13 นิคม 14 ป่า 17 สหกรณ์ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ เร่งดำเนินการให้เกิดความชัดเจน เพราะการสนับสนุนให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองเป็นเรื่องที่ดี แต่จะให้เกษตรกรที่เดือดร้อนเหล่านี้มีสถานะทางที่ดินอย่างไร ต้องให้ภาครัฐเร่งหารือเพื่อให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว เพราะแต่ละพื้นที่สภาพปัญหาต่างกัน จะต้องมีการร่างกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
ด้านนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินงานตามนโยบายของ รมช.มนัญญา สำหรับความคืบหน้า ขณะนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ กำลังรวบรวมหนังสือที่เครือข่ายสหกรณ์นิคม 4 ภาค 13 นิคม 14 ป่า 17 สหกรณ์ ได้ยื่นหนังสือต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดำเนินการทำเรื่องไปถึงกรมป่าไม้ เพื่อแสดงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และจะหารือร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมป่าไม้ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกร่วมกัน อีกทั้ง เพื่อให้พื้นที่นี้ ซึ่งปัจจุบันจัดตั้งเป็นรูปแบบนิคมสหกรณ์ไว้แล้ว สามารถไปสู่การจัดตั้งนิคมตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำเรื่องเสนอต่อ คทช.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง เพื่อความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และเป็นหลักประกันในการยื่นสินเชื่อมาประกอบอาชีพ และได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือจากภาครัฐ
ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2513 และวันที่ 13 สิงหาคม 2517 ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนที่เสื่อมโทรม คือในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาไชยราช และป่าคลองกรูด-ป่าพุน้ำเค็ม อำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย เนื้อที่ 156,078 ไร่ 1 งาน 53 วา ไปบริหารจัดการที่ดินในรูปแบบสหกรณ์นิคม โดยมีนิคมสหกรณ์บางสะพานเป็นผู้รับผิดชอบการจัดพื้นที่ในพื้นที่นิคมสหกรณ์ตั้งแต่ปี 17 โดย พื้นที่สหกรณ์นิคมบางสะพาน จำกัด มีเกษตรกรเป็นสมาชิกใน 2 อำเภอ คือบางสะพาน และบางสะพานน้อยรวม 10 ตำบล มีพื้นที่ 160,000 ไร่ มีเกษตรกร 7,000 กว่าราย ประกอบอาชีพในที่ดิน 9,000 กว่าแปลง ต่อมาปี 2562 สิ้นอายุสัญญาอนุญาตของกรมป่าไม้ ทางนิคมสหกรณ์จึง ได้ประสานหมู่บ้านต่าง ๆ ทำประชาคมเพื่อทำเรื่องขออนุญาตใหม่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ลงนามส่งหนังสือถึงกรมป่าไม้ ขอใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อขออนุญาตใช้เป็นหนังสือ ป.ส.23 ต่อมาได้มีมติคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ส่งคืนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมโทรมให้กรมป่าไม้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่การแก้ไขปัญหาพื้นที่นิคมสหกรณ์ 13 นิคม 14 ป่า ภายใต้การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.)
จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปพบปะสมาชิกสหกรณ์นิคมบางสะพาน จำกัด จำนวน 3 หลังคาเรือน ได้แก่ บ้านนายลด วงศ์เณร หมู่ที่ 6 ตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บ้านนายวัน วงค์จันทร์ทอง หมู่ ที่ 6 ตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และบ้านนายลำดวน หนูยิ้มซ้าย หมู่ที่ 4 ตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรับฟังปัญหาของสมาชิกสหกรณ์นิคม