การประชุมหารือการจัดทำแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
16 มกราคม 2566 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือการจัดทำแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ร่วมกับ สำนักงบประมาณ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือการจัดทำแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ร่วมกับ สำนักงบประมาณ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมธารทิพย์ อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ Zoom Cloud Meeting
โอกาสนี้ รมช.ประภัตร ได้มอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายสำคัญของรัฐบาล แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญในการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 อาทิ การแสดงวัตถุประสงค์ความจำเป็น ผลสัมฤทธิ์ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ แผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่าย ความสำคัญตามความจำเป็นเร่งด่วน มีความพร้อมกันในการดำเนินงานและความพร้อมของพื้นที่ รวมทั้งต้องคำนึงถึงความเสมอภาค กระจายทรัพยากรให้เกิดความเท่าเทียม
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการเกษตร 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. ตลาดนำการผลิต เพิ่มช่องทางการตลาดที่มีความหลากหลาย จัดกิจกรรมคู่ธุรกิจ ส่งเสริมระบบเกษตรพันธสัญญา 2. เทคโนโลยีเกษตร 4.0 ใช้เทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การตลาด ด้วยการพัฒนาฐานข้อมูล Big data พัฒนาศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) และตรวจสอบศักยภาพพื้นที่โดยใช้ Agi-Map เพื่อจัดทำ Zoning 3. 3’s ความปลอดภัยด้านอาหาร เน้นสินค้าเกษตรและอาหารของไทย มีความปลอดภัย มีมาตรฐานตามหลักสากล 4. การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการโมเดล “เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย” ด้วยการดำเนินโครงการ Pre Order ผลไม้ฤดูกาล ผ่านช่องทาง E-Commerce เพื่อให้สถาบันเกษตรกรที่มีความพร้อมได้มีช่องทางใหม่ ๆ ในการจำหน่ายสินค้า และกระจายสินค้าเพิ่มเติม เพื่อรองรับผลผลิตในช่วงฤดูกาลที่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก และ 5. เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวศาสตร์พระราชา เพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน และสร้างความมั่นคงแก่เกษตรกร ได้แก่ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ และวนเกษตร
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายหลัก 15 ด้าน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ การสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก การส่งเสริมสถาบันเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ และ Start up การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม การประกันภัยพืชผล การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน การวิจัยและพัฒนา และการประกันรายได้ของเกษตรกร ทั้งนี้ การจัดทำแผนงบประมาณฯ จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ มีผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงาน และประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด