การประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดพืชหลังนา ปี 2565/66
9 พฤศจิกายน 2565 นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดพืชหลังนา ปี 2565/66
นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดพืชหลังนา ปี 2565/66 โดยมี นายสันทาน สีสา ผู้อำนวยการกองพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร นายบรรจง ชัยขุนพล ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบสนับสนุนการสหกรณ์ นางสาวอุบลวรรรณ พัฒนลาภ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม และถ่ายทอดสัญญาณผ่านระบบประชุมทางไกล Zoom Meeting จากห้องประชุม 129 อาคาร 1 กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพ ไปยังสำนักงานสหกรณ์จังหวัด 27 จังหวัด
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดพืชหลังนา ปี 2565/66 ประเด็นการจับคู่ธุรกิจของสหกรณ์กับบริษัทคู่ค้าทั้งด้านการรวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยและเวชภัณฑ์ทางการเกษตร เพื่อขับเคลื่อนโครงการ ตามที่กระทรวงฯ มีนโยบายการลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังที่เป็นพืชเชิงเดี่ยวมีรายได้น้อยโดยการปลูกพืชทดแทน พร้อมทั้งการวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการหารือแนวทางความร่วมมือการดำเนินงานภาครัฐฯ ร่วมกับภาคเอกชน ขับเคลื่อนโครงการพืชหลังนาผ่านสหกรณ์การเกษตรที่มีศักยภาพและมีพื้นที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ สามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นแก่สมาชิกสหกรณ์ อีกทั้งเพื่อตอบโจทย์ปัญหาการขาดแคลนพืชอาหารสัตว์ของภาคอุตสาหกรรม อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวสำหรับผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีการประสานงานกับบริษัทเอกชนในเรื่องการรับซื้อผลผลิตและการจำหน่วยเมล็ดพันธ์ รวมไปถึงกับกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องการจัดหาปุ๋ย และเวชภัณฑ์ราคาพิเศษ ทั้งนี้ กรมฯ ได้จัดทำโครงการพิเศษเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์เพื่อสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ (อัตราร้อยละ 1) แก่สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยรองอธิบดีฯ ได้เน้นย้ำว่า เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยเหลือสหกรณ์ในด้านการวางแผนการผลิต การรวบรวม และการตลาดให้รอบคอบ เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือพืชอื่นๆ ที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือพืชหลังนาอื่นทุกเมล็ด มีตลาดรองรับที่แน่นอน เป็นไปตามเจตนารมย์ของโครงการ ที่จะช่วยให้สหกรณ์จะสามารถเพิ่มปริมาณและช่องทางการทำธุรกิจ และเพิ่มผลผลิตให้มีคุณภาพ ส่งผลให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป