การประชุมเชิงปฏิบัติการคณะทำงานยกร่างแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570)
5 กันยายน 2565 นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการคณะทำงานยกร่างแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570)
นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการคณะทำงานยกร่างแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570) โดยมี นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ นายภาณุวัฒน์ ณ นครพนม ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ นายอาทิตย์ สุกเหลือ ผู้อำนวยการกองแผนงาน นางกัญจนา ภัทรวนาคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการสหกรณ์ ผู้แทนสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และคณะทำงานภายในกรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าร่วมเข้าประชุม ณ ภูสักธาร รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 - 7 กันยายน 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณากำหนดค่าเป้าหมายตัวชี้วัดที่เหมาะสมของแผนงาน/โครงการภายใต้แผนพัฒนาการสหกรณ์ และแนวทางการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการสหกรณ์ฯ ไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งแนวทางการติดตามและประเมินผลแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 โดยรองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้เน้นย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรีบดำเนินการขับเคลื่อน เพื่อเป็นการวางรากฐานการพัฒนาสหกรณ์ในอนาคต รวมทั้งเรื่องการสร้างธรรมาภิบาลในสหกรณ์ และการสร้างเครือข่ายระหว่างสหกรณ์ ซึ่งเป้าหมายสูงสุด คือ สมาชิกสหกรณ์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สหกรณ์มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น ยกระดับสหกรณ์ให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ผลักดันสหกรณ์ทั่วประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เน้นย้ำให้ดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งเป้าหมายของการจัดทำแผนนั้น สหกรณ์ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ทันกับโลกในปัจจุบัน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน ทั้งการดำเนินงานและการบริการสมาชิก ส่งเสริมการขับเคลื่อนองค์กรและดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศ
นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้ร่วมกันแสดงความเห็น ระดมสมอง เพื่อเติมเต็มข้อมูลในส่วนที่ยังไม่ครบถ้วนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากแผนพัฒนาการสหกรณ์ฉบับนี้จะขับเคลื่อนไปได้นั้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคสหกรณ์ ดังนั้น การกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนจึงต้องเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการติดตามและประเมินผลต้องมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน และสร้างการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจและการบริการด้วยดิจิทัล เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน บรรลุวัตถุประสงค์ และเป็นไปตามเป้าหมายที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนดไว้ต่อไป