กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงเปิดงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ประจำปี 2565
27 สิงหาคม 2565 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงเปิดงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ประจำปี 2565
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงเปิดงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ประจำปี 2565 พร้อมทั้งพระราชทานรางวัลผู้ชนะเลิศการประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ระดับประเทศ ประจำปี 2565 และเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ภายใต้เรื่อง “สืบสานภูมิปัญญา พระมารดาแห่งไหมไทย" โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าเฝ้ารับเสด็จฯ ณ ฮอลล์ 9 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
งานตรานกยูงพระราชทานฯ ในครั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมหม่อนไหม จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 24 - 28 สิงหาคม 2565 เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศในสินค้าผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยที่มีเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทานว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ได้รับการตรวจสอบมาตรฐานจากกรมหม่อนไหม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงสืบสานและให้ความสำคัญกับอาชีพด้านหม่อนไหม เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจและผลงานของกรมหม่อนไหม รวมทั้งผ้าไหมไทยคุณภาพและผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหมให้เป็นที่รู้จัก ตลอดจนเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน ผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหมของเกษตรกรให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง เพิ่มรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม
กิจกรรมภายในงานมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ 90 ลายผ้าอัตลักษณ์ของเกษตรกรสมาชิกศิลปาชีพ หนังสือภูมิปัญญาด้านหม่อนไหมด้านต่าง ๆ การแสดงตรานกยูงพระราชทาน พร้อมขั้นตอนการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ผลงานการประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ประจำปี 2565 ปราชญ์หม่อนไหม ผลงานของกรมหม่อนไหม และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับหม่อนไหม รวมทั้งยังมีการออกร้านจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมไทย และสินค้าหม่อนไหม มากกว่า 200 ร้านค้า ภายใต้มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวดอีกด้วย