ลงพื้นที่จังหวัดพิจิตร เยี่ยมชมการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรบางมูลนาก จำกัด
25 กรกฎาคม 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดพิจิตร เยี่ยมชมการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรบางมูลนาก จำกัด พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายศักดิ์ชัย ไชยพุทธ ผู้ตรวจราชการกรม เขตตรวจราชการที่ 17,18 และคณะผู้บริหารหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดพิจิตร เยี่ยมชมการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรบางมูลนาก จำกัด พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายศักดิ์ชัย ไชยพุทธ ผู้ตรวจราชการกรม เขตตรวจราชการที่ 17,18 และคณะผู้บริหารหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายธวัชชัย เลี้ยงประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร นายมาโนช ชลอวงษ์ สหกรณ์จังหวัดพิจิตร นายนิพล จันทร์เพ็ญ ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรบางมูลนาก จำกัด หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ สมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกร ให้การต้อนรับ ณ สหกรณ์การเกษตรบางมูลนาก จำกัด ตำบลเนินมะกอก อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร
ในการนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบปะเกษตรกร สมาชิก ผู้แทนสหกรณ์ รับฟังปัญหาด้านการเกษตร และกล่าวมอบนโยบายและให้กำลังใจแก่สมาชิกสหกรณ์ ขบวนการสหกรณ์ พร้อมมอบอุปกรณ์การตลาดที่ได้รับสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ อาทิ ฉาง ลานตาก เครื่องอบลดความชื้น รถตักล้อยาง โรงคลุมพร้อมเครื่องชั่ง รถโฟล์คลิฟท์ รถแทรกเตอร์ เครื่องสีข้าว อาคารปฏิบัติการตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ เครื่องซีลสูญญากาศอุตสาหกรรม VCC04 โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ ให้แก่ผู้แทนสถาบันเกษตรกร 9 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรบางมูลนาก จำกัด สหกรณ์การเกษตรทับคล้อ จำกัด สหกรณ์การเกษตรตะพานหิน จำกัด ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรพิจิตร จำกัด สหกรณ์การเกษตรวังทรายพูน จำกัด สหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด สหกรณ์การเกษตรเมืองพิจิตร จำกัด สหกรณ์การเกษตรสามง่าม จำกัด และสหกรณ์ชาวนาวชิรบารมี จำกัด รวมมูลค่า 52,225,855 บาท โดยรัฐบาลอุดหนุน 42,714,854 บาท สหกรณ์สมทบอีก 9,541,884 บาท นอกจากนี้ ได้มอบเงินงบประมาณอุดหนุนชดเชยดอกเบี้ยให้สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตร ตามโครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดพิจิตร จำนวน 8,362,324 บาท วงเงินรวมกว่า 59,267,000 บาท
โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะ ได้มอบเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัว กิ่งพันธุ์มะนาวแป้นพิจิตร 500 ต้น และต้นกล้ากัญชา 800 ต้น ให้แก่สมาชิกสหกรณ์ เกษตรกรทั่วไป และผู้แทนสหกรณ์ จากนั้นได้เยี่ยมชมบูธนิทรรศการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูธแสดงผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์การเกษตรบางมูลนาก จำกัด บูธจัดแสดงผลผลิตที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ของสหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด และเยี่ยมชมบูธแสดงผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร นำโดย นายธนดล บรรเจิดกิจ เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรวังทรายพูน จำกัด จบปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ลาออกจากงานประจำหันมาทำการเกษตรบนพื้นที่ 15 ไร่ ปลูกไม้เศรษฐกิจ อาทิ ต้นพยุง ประดู่ สัก ตะเคียน รวมทั้งปลูกไม้ผล มะม่วง ขนุน น้อยหน่า กล้วย และพืชผักสวนครัวต่าง ๆ มีความโดดเด่นด้านการปลูกกัญชา ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ใช้ทำเป็นอาหารสัตว์และสกัดเป็นน้ำมันจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป รวมทั้งได้เยี่ยมชมผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าแปรรูปต่าง ๆ ของลูกหลานเกษตรกร อาทิ ผักไฮโดรโปนิกส์ พืชผักสวนครัว กิ่งพันธุ์ไม้ผล และถ่านดูดกลิ่น ถ่านอัดแท่ง ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากถ่านไม้ไผ่
สหกรณ์การเกษตรบางมูลนาก จำกัด จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2513 เป็นสหกรณ์การเกษตร ชนิด “ไม่จำกัด” ต่อมาได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ชนิด “จำกัด” เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2514 และได้ดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 52 ปี ปัจจุบันมีทุนดำเนินงาน 854 ล้านบาท มีสมาชิก จำนวน 1,007 ราย ดำเนินธุรกิจหลัก 6 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจปั๊มน้ำมัน ธุรกิจผลิตน้ำดื่ม และธุรกิจรวบรวมผลิตผลทางการเกษตร สหกรณ์รับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิก และเกษตรกรทั่วไป สหกรณ์ได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ในการก่อสร้างและจัดซื้ออุปกรณ์การตลาด ได้แก่ ลานตากขนาด 4,000 ตารางเมตร ฉาง 2 หลัง ขนาดรวม 2,500 ตัน โรงคลุมพร้อมเครื่องชั่งขนาด 50 ตัน รถตักขนาด 220 แรงม้า และรถโฟล์คลิฟ ขนาด 3.5 ตัน มูลค่ารวม 12 ล้านบาทเศษ ก่อสร้างตลาดกลางและจัดซื้ออุปกรณ์การตลาด สหกรณ์ได้ใช้ตลาดกลางทั้งสองแห่ง รับซื้อข้าวเปลือกทุกประเภทในทุกฤดูการผลิต โดยในปีการผลิต 2564/65 สหกรณ์สามารถรวบรวมข้าวเปลือกได้ปริมาณรวม 91,000 ตัน รวมมูลค่า 675 ล้านบาท ซึ่งช่วยแทรกแซงและพยุงราคาข้าวเปลือกให้สูงขึ้น จนทำให้สหกรณ์สามารถช่วยเหลือสมาชิกแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำได้อย่างทั่วถึง