เปิดพิธีการประชุมเเถลงผลงานวิจัยสิ้นสุด ปี 2559 - 2564 กรมวิชาการเกษตร “DOA Together for BCG and Food Security
18 กรกฎาคม 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ เป็นธานเปิดพิธีการประชุมเเถลงผลงานวิจัยสิ้นสุด ปี 2559 - 2564 กรมวิชาการเกษตร “DOA Together for BCG and Food Security กรมวิชาการเกษตรร่วมใจ มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ เพื่อความมั่นคงทางอาหาร”
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ เป็นธานเปิดพิธีการประชุมเเถลงผลงานวิจัยสิ้นสุด ปี 2559 - 2564 กรมวิชาการเกษตร “DOA Together for BCG and Food Security กรมวิชาการเกษตรร่วมใจ มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ เพื่อความมั่นคงทางอาหาร” ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 18 – 20 กรกฎาคม 2565 พร้อมร่วมเดินชมนิทรรศการเเสดงผลงานวิจัย พร้อมด้วยนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เเละนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าร่วมพิธีเปิด ณ ห้องประชุมนครรังสิต บอลรูม ชั้น 1 โรงเเรมโนโวลเทล กรุงเทพ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี
ซึ่งการจัดการประชุมแถลงผลงานวิจัยที่มีคุณค่าของกรมวิชาการเกษตรถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักวิจัยซึ่งเป็นผู้ผลิตผลงาน และผู้ใช้ผลงานซึ่งเป็นพี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ ที่จะได้รับรู้ แลกเปลี่ยน นำผลงานวิจัยไปพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการผลิตอันจะก่อให้เกิดการบูรณาการและทำงานวิจัยร่วมกันให้สอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งในด้านการวิจัยรองรับการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ด้วยฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ และกระบวนการผลิตที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีความปลอดภัยและมีมาตรฐานสากล ซึ่งงานวิจัยที่สร้างรายได้ และเพิ่มอัตราการขยายตัวของ GDP ในภาคเกษตร มีงานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ซึ่งยังคงเป็นผลงานที่โดดเด่นของกรมวิชาการเกษตร และการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาช่วยเพื่อลดระยะเวลาการวิจัย เพื่อให้ผลงานส่งถึงมือพี่น้องเกษตรกรโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการวิจัยและการทำงานเพื่อรองรับภาวะวิกฤติของประเทศ อาทิ ภาวะภัยแล้ง ปัญหาการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ที่ทวีความรุนแรงขึ้นตามสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อม
พันธุ์พืชใหม่ที่รองรับตลาดเฉพาะและภาคอุตสาหกรรม 16 ชนิด (49 พันธุ์) พันธุ์พืชท้องถิ่นที่มีศักยภาพในอนาคต 19 ชนิด พร้อมทั้งเทคโนโลยีการผลิตพืชท้องถิ่น 41 ชนิด พืช GI รวม 9 ชนิดพืช เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเกษตรกรรม จากการใช้ชุดเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 20 - 50 % และได้พัฒนาไปสู่เว็บแอปพลิเคชันระบบพยากรณ์ผลผลิตในไม้ผลเศรษฐกิจ ระบบให้คำแนะนำในการใช้ปุ๋ยในปาล์มน้ำมัน ระบบการประเมินการระบาดของศัตรูพืชมันสำปะหลัง นวัตกรรมด้านอารักขาพืชแก้ไขปัญหา โรคใบขาวอ้อย โรคใบด่างมันสำปะหลัง หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ช่วยลดการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรและค่าใช้จ่ายในการป้องกัน จึงมีเชื่อมั่นว่าการประชุมแถลงผลงานในครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าต่อทุกภาคส่วน
ด้านนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ กล่าวว่า ด้วยฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ เเละกระบวนการผลิตที่รับผิดชอบต่อสิ่งเเวดล้อม ที่ปลอดภัยเเละมีมาตรฐานสากล ทางกรมวิชาการเกษตรยังมุ่งเน้นงานวิจัยที่สร้างรายได้ เเละเพิ่มอัตราการขยายตัวของ GDP ภาคเกษตร งานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ ยังคงเป็นผลงานที่โดดเด่น ในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาช่วยเพื่อลดระยะเวลาการวิจัย เพื่อให้ผลงานส่งถึงมือพี่น้องเกษตรกรโดยเร็ว เเละการพัฒนาพันธุ์ที่ตอบโจทย์ต่อตลาดเเนวใหม่ จะสามารถสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร เเละอุตสาหกรรมยาในอนาคตต่อไป