พิธีเปิดเปิดศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ (War Room)
27 มิถุนายน 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดเปิดศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ (War Room) โดยมี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นายระวี อักษรศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดเปิดศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ (War Room) โดยมี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นายระวี อักษรศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายสุวิจักขณ์ ธรรมชัยพจน์ ผู้อำนวยการกองคดี 1 จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พ.ต.อ.พัฒนา ฉายาวัฒน์ รองผู้บังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธี ณ ห้องประชุม 134 – 135 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
ในการนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาการทุจริตในระบบสหกรณ์ มีทั้งสหกรณ์ในภาคการเกษตรและสหกรณ์ภาคออมทรัพย์ และเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2565 นายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ โดยคณะกรรมการฯชุดดังกล่าว มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตในสหกรณ์ ตรวจสอบ เร่งรัด ติดตามการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทุจริตในสหกรณ์ และให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะแก่กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ เนื่องจากที่ผ่านมามีการทุจริตเกิดขึ้นในสหกรณ์หลายแห่ง จึงได้ประสานความร่วมมือไปยัง ปปง. ดีเอสไอและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อร่วมกันติดตามยึดอายัดทรัพย์สินจากผู้ที่ทุจริตยักยอกทรัพย์ของสหกรณ์ มีการเร่งรัดการดำเนินคดี เพื่อบรรเทาและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์ต่าง ๆ และขณะนี้ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ขึ้น ตั้งอยู่ชั้น 2 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลการทุจริตในสหกรณ์ ติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์เป็นรายกรณี ใช้เป็นวอร์รูมในการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ ป้องกันความเสียหายที่จะลุกลามและมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสรุปผลรายงานต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยตรง เพื่อจะเป็นข้อมูลสำหรับนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้ทันกับสถานการณ์
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นอีก 3 คณะ ได้แก่ 1. คณะทำงานสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีเกิดการทุจริตในสหกรณ์ 2. คณะทำงานรวบรวมและตรวจสอบ และ 3. คณะทำงานปรับปรุงระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการตรวจสอบงบการเงิน
ด้าน นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลข้อบกพร่องทุจริตของสหกรณ์ในภาพรวมทั้งประเทศ มีจำนวน 252 สหกรณ์ ยอดความเสียหายรวม 18,000 ล้านบาท แยกเป็น สหกรณ์ในภาคการเกษตร 148 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 2,067.88 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น สหกรณ์การเกษตร 140 แห่ง 1,964 ล้านบาท สหกรณ์ประมง 2 แห่ง 3.97 ล้านบาท สหกรณ์นิคม 6 แห่ง 99.91 ล้านบาท และสหกรณ์นอกภาคการเกษตร (ออมทรัพย์ ร้านค้า เครดิตยูเนี่ยน และบริการ) จำนวน 104 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 16,721.30 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ จำนวน 40 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 3,300 ล้านบาท และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 37 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 13,333 ล้านบาท โดยการทุจริตในระบบสหกรณ์ มักจะทุจริตกันในระดับฝ่ายจัดการและระดับกรรมการบริหารสหกรณ์ ส่วนในระดับสมาชิกนั้นหากในระดับจัดการหรือระดับบริหารมีการควบคุมที่ดี ทำให้สมาชิกเกิดการทุจริตได้น้อย
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ประมวลผลโดยแยกประเด็นการทุจริตของสหกรณ์ แบ่งออกได้ 11 ประเด็น ได้แก่ ทุจริตเกี่ยวกับเงินสด 11% ทุจริตเกี่ยวกับเงินฝากของสหกรณ์ 6% ทุจริตเกี่ยวกับเงินรับฝากของสมาชิก 9% ทุจริตเกี่ยวกับเงินกู้ 21% ทุจริตเกี่ยวกับธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย 13% ทุจริตเกี่ยวกับธุรกิจรวบรวม 5% ทุจริตเกี่ยวกับธุรกิจบริการ/ส่งเสริมการเกษตร 1% เบิกค่าใช้จ่ายเป็นเท็จ 1% นำทรัพย์สินของสหกรณ์ไปขายโดยมิชอบ 0% นำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวแล้วบันทึกบัญชีเป็นเงินยืมทดรอง 2% ทุจริตประเด็นอื่น ๆ 11% ซึ่งจะเห็นได้ว่า รูปแบบการทุจริตในสหกรณ์ จะแยกเป็นการทุจริตเกี่ยวกับเงินกู้จะมากที่สุด รองลงมาเป็นการทุจริตเกี่ยวกับการจัดหาสินค้ามาจำหน่ายและทุจริตเกี่ยวกับเงินสด ตามลำดับ
โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และผู้แทนหน่วยงานที่เป็นคณะกรรมการของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ ได้นำสื่อมวลชนลงไปยังบริเวณชั้น 2 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเยี่ยมชมการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ พร้อมทดสอบการนั่งประชุมในห้องวอร์รูม และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการปฏิบัติงาน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นระบบต่อไป