มอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานของรองนายทะเบียนสหกรณ์ ภายใต้โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ “แนวทางการปฏิบัติงานของรองนายทะเบียนสหกรณ์”
13 มิถุนายน 2565 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ มอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานของรองนายทะเบียนสหกรณ์ ภายใต้โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ “แนวทางการปฏิบัติงานของรองนายทะเบียนสหกรณ์”
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ มอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานของรองนายทะเบียนสหกรณ์ ภายใต้โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ “แนวทางการปฏิบัติงานของรองนายทะเบียนสหกรณ์” โดยมี นายถาพร ณ นคร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม นายนิรันดร์ มูลธิดา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ ผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ สหกรณ์จังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 – 2 ผู้อำนวยการกลุ่มจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มตรวจการสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ รวม 270 คน เข้ารับฟังการบรรยายพิเศษ ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร
ในการนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มอบแนวทางในการปฏิบัติงาน ในเรื่องของการบริหารสำนักงานด้วยวงจร PDCA โดยจะต้องมีการวางแผนการทำงาน ลงมือปฏิบัติและพัฒนางาน ตรวจสอบ ประเมินผล ปรับปรุงและแก้ไข ซึ่งเป้าหมายในปี 2565 ที่จะดำเนินการขับเคลื่อน ได้แก่ 1. การจัดตั้งสหกรณ์ที่มีคุณภาพ เมื่อจัดตั้งสหกรณ์แล้วสามารถดำเนินงานและมีโอกาสเติบโตต่อไปในอนาคตได้ มีการติดตามประเมินผลอยู่เสมอ 2. สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทุกแห่งปิดบัญชีได้ 3. สหกรณ์มีกำไรทุกแห่ง ควรคำนึงถึงหลักธุรกิจที่ดีของสหกรณ์ 4. ไม่มีการทุจริตเกิดขึ้นในสหกรณ์ มีความรวดเร็วในการติดตามทรัพย์สินคืนกลับมาให้สมาชิก และ 5. การชำระบัญชีที่ตั้งเป้าไว้ 25 % อีกทั้ง ควรมีกระบวนการจัดการที่ดี มีกระบวนการจากทุกภาคส่วนมาเกี่ยวข้องเพื่อเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อไปในอนาคต มีการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในสำนักงานสหกรณ์จังหวัด เพิ่มพูนความรู้ วางแผนให้บุคลากรมีความรู้เพื่อนำไปใช้ในการทำงานและเกิดประสบการณ์ เรียนรู้เรื่องระบบปัญหาสหกรณ์ ปูพื้นฐานให้ความรู้เรื่องบัญชี ไม่ว่าจะเป็นผู้ตรวจการสหกรณ์หรือเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ ควรจะเข้าไปแนะนำ ส่งเสริม ดูแลคณะกรรมการสหกรณ์ สร้างความเข้าใจว่ามีประโยชน์อย่างไร มีต้นแบบอะไรบ้างที่ทำแล้วเกิดประโยชน์ และเข้าไปติดตามดูแลระบบการเงินของสหกรณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งหาแนวทางป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดทุจริตซ้ำเหมือนกับที่ผ่านมา อีกทั้งเรื่องกฎหมายข้อบังคับที่จะต้องมีความรู้ติดตัว เป็นการเพิ่มศักยภาพ เน้นย้ำให้สหกรณ์จังหวัดนำไปขับเคลื่อนในสำนักงาน นอกจากนี้ เรื่องงานตรวจการสหกรณ์ งานชำระบัญชี งานส่งเสริมธุรกิจสหกรณ์ ควรวางแผนให้เป็นระบบ บริหารงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ถือเป็นภารกิจของสหกรณ์จังหวัดตามภารกิจหลักของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทั้งการกำกับดูแล ตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์ให้มากขึ้น แก้ไขข้อบกพร่องเดิม และไม่ให้เกิดการทุจริตใหม่ และให้เป็นไปตามหลักการ วิธีการ อุดมการสหกรณ์ คณะกรรมการมีธรรมาภิบาลในการดำเนินการสหกรณ์ สมาชิกให้เกิดประโยชน์สูงสุด โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีระบบควบคุมภายใน เน้นการให้ความรู้แก่บุคลากรกรมฯ สหกรณ์ มีทักษะที่สำคัญ อาทิ ทักษะการบัญชี การเงินสหกรณ์ การบริหารจัดการ ทักษะเฉพาะเกี่ยวกับอาชีพ นอกจากนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่งจะต้องมี Application ให้สมาชิกตรวจสอบยอดเงินของตัวเองได้ ทั้งนี้ อธิบดีฯ ได้ให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ร่วมกันส่งเสริมสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรให้มีความมั่นคง มีความเข้มแข็ง ปฏิบัติงานอย่างมีความสุข และประสบผลสำเร็จต่อไป