ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย ติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรท่าบ่อ จำกัด
25 พฤษภาคม 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย ติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรท่าบ่อ จำกัด และชมความสำเร็จของเกษตรกรในโครงการนำลูกหลานเกษตรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตร ซึ่งเป็นนโยบายกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 ณ ฟาร์มเกษตรผสมผสาน “นาปู่ฮักย่า” ของนางสาวธิดารัตน์ ตุ้มมี โดยมีนางวนิดา อามาตย์ทัศน์ สหกรณ์จังหวัดหนองคาย นายปกรณ์ ศรีหาราช ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรท่าบ่อ จำกัด และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดหนองคาย ให้การต้อนรับ พร้อมนำผลผลิตจากโครงการมาจำหน่ายในราคาถูกด้วย
จากนั้นนายปกรณ์ ศรีหาราช ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรท่าบ่อ จำกัด กล่าวรายงานการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรท่าบ่อ จำกัด พร้อมขอบพระคุณรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านมนัญญา ไทยเศรษฐ์ และคณะเป็นอย่างสูง ที่ได้มาเยี่ยมให้กำลังใจสหกรณ์ และสมาชิกสหกรณ์การเกษตรท่าบ่อ จำกัด ในวันนี้
สหกรณ์การเกษตรท่าบ่อ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518 สหกรณ์ดำเนินธุรกิจเป็นระยะเวลา 47 ปี มีสมาชิก จำนวน 5,806 คน แบ่งออกเป็นสมาชิกสามัญ จำนวน 4,232 คน สมาชิกสมทบ จำนวน 1,574 คน สำหรับปีบัญชีสิ้นสุด 31 มีนาคม 2565 สหกรณ์มีทุนดำเนินงานทั้งสิ้น 508 ล้านบาท แบ่งออกเป็น ทุนเรือนหุ้น จำนวน 135 ล้านบาท ทุนสำรอง จำนวน 35 ล้านบาทและ ทุนอื่นๆ จำนวน 10 ล้านบาท กำไรสุทธิ 50 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจใน 5 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจเงินรับฝาก ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรและธุรกิจแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร
สำหรับนางสาวธิดารัตน์ ตุ้มมี ซึ่งเข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และลาออกจากสถานที่ทำงาน เนื่องจากสนใจทำอาชีพทางการเกษตร ประกอบกับ ต้องการมาพัฒนาถิ่นบ้านเกิดที่ฟาร์มเกษตรนาปู่ฮักย่า บ้านเลขที่ 60 หมู่ 4 บ้านฝาง ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย บนเนื้อที่ 15 ไร่ โดยทำการเกษตรแบบผสมผสาน เช่น ขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงปลาในกระชัง เลี้ยงเป็ด ไก่ ปลูกพืชต่าง ๆ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ยเดือนละ 15,000 บาท สามารถสร้างรายได้และสร้างอาชีพการเกษตรอย่างยั่งยืน
นางสาวธิดารัตน์ ตุ้มมีหรือน้องบูม เจ้าของฟาร์มเกษตรผสมผสาน”นาปู่ฮักย่า”กล่าวว่าหลังจากออกจากงานประจำเมื่อปี 2561 ก็กลับบ้านมาทำเกษตรอย่างเต็มตัว ประกอบกับพ่อและแม่ได้เกษียณจากข้าราชการครู จึงมาช่วยกันดูแลด้วย เดิมที่ตรงนี้เป็นที่มรดกตกทอดจ่ากบรรพบุรุษ เป็นที่นา ปลูกไผ่เลี้ยงและปาล์มน้ำมัน แต่หลังจากตนเข้ามาดูแลอย่างเต็มตัวเมื่อปี 2561 จึงได้มีปรับปรุงพัฒนาพื้นที่เป็นฟาร์มเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชผัก ไม้ผล เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งและอีกมากมาย ภายใต้ชื่อฟาร์มเกษตร”นาปู่ฮักย่า”
จากนั้นในปี 2562 จึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตร ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสมัครผ่านทางออนไลน์ และได้ผ่านการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 36 คนของทั้งจังหวัด จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาให้คำแนะนำในเรื่องต่าง ๆ มีโอกาสเข้าร่วมอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายในโครงการต่าง ๆ ที่หน่วยงานงานรัฐจัดขึ้นทั้งในและนอกพื้นที่ มีการพาไปศึกษาดูงานนอกสถานที่อย่างเช่นไปดูการเลี้ยงผึ้งโพรงแล้วนำมาทดลองเลี้ยงในฟาร์ม มีการสอนให้ทำบัญชีครัวเรือนจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมาก็ได้โครงการโคกหนองนาของกรมพัฒนาชุมชนมาลงทำให้มีการขายพื้นที่เกษตรเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันบนเนื้อที่ 15 ไร่ภายในฟาร์มเกษตร”นาปู่ฮักย่า” จึงมีทั้งพืชผัก สมุนไพร ไม้ผลและฟาร์มเป็ดไล่ทุ่ง ประกอบด้วย ที่นา 3 ไร่ ไผ่เลี้ยง 20 กอ มะพร้าวน้ำหอม 80 ต้น กล้วยน้ำว้า 70 ต้น ปาล์มน้ำมัน 100 ต้น และเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง 200 ตัว ทำให้มีรายได้รายวันจากการจำนห่ายผลผลิตทุกวัน
“ตอนนี้เป็ดไล่ทุ่งเป็ดอารมณ์ดีออกไข่ทุกวัน ทำให้มีรายได้เข้ามาทุกวัน ขายแผงละ 120 บาท 32 ฟองจะมีแม่ค้าประจำมารับซื้อถึงหน้าฟาร์มเพื่อนำไปขายต่อในตลาด มะพร้าวน้ำหอมก็ใช้ขี้แดดนาเกลือมาลงเพิ่มความหอม มีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวน เช่นกับกับกล้วยน้ำว้า ส่วนหน่อไม้ 3 วันตัดครั้ง ปาล์มน้ำมันตัดเดือนละ2 ครั้ง ตอนนี้ราคาปาล์มดีโลละ 9-10 บาท”
เจ้าของฟาร์มเกษตร”นาปู่ฮักย่า”กล่าวถึงการพัฒนาแปลงในอนาคต อยากจะปรับปรุงการจัดการระบบน้ำให้ดีขึ้น นอกจากนี้อยากได้เครื่องอัดใบไม้ เนื่องจากที่ฟาร์มจะเป็นเกษตรอินทรีย์ 100 % หากมีเครื่องอัดใบไม้สำหรับผลิตถ้วยจากใบตองก็จะเพิ่มมูลค่าผลผลิตมากขึ้นด้วย