พิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
1 เมษายน 2565 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพิธีสงฆ์ โดยมี นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประกอบ เผ่าพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพิธีสงฆ์ โดยมี นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประกอบ เผ่าพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมพิธี ณ บริเวณด้านหน้าอาคารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และห้องประชุม 112 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานครมหานคร
จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรและเครื่องหมายเชิดชูเกียรติสืบสานเกษตรกรรมยั่งยืน ประจำปี 2565 แก่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้มีจิตอาสา ประกอบคุณงามความดีที่มีความประพฤติเหมาะสม ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือมีผลการปฏิบัติงานด้านการเกษตรและสหกรณ์ดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะผู้บริหารฯ ได้ชมนิทรรศการแสดงผลงานสำคัญของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 130 ปี (130 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน) ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดนิทรรศการ “สมาชิกสหกรณ์รุ่นใหม่ สร้างเกษตรไทยยั่งยืน” โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร ให้ความรู้การทำเกษตรสมัยใหม่ตามความสนใจ เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ส่งเสริมการผลิตภายใต้หลักตลาดนำการผลิต พัฒนาช่องทางตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ มีซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ เป็นจุดจำหน่ายสินค้า เกิดเป็นการเชื่อมโยงพัฒนาภาคการเกษตรไทยให้เข้มแข็ง ยั่งยืน
สหกรณ์การเกษตรปรางค์กู่ จำกัด จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้นแบบสหกรณ์การเกษตรที่มีการเชื่อมโยงนโยบายและโครงการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการดำเนินโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ เปิดโอกาสให้เกษตรกรรุ่นใหม่กลับบ้านมาทำการเกษตรสานต่อจากครอบครัวโดยกรมสงเสริมสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัด สหกรณ์ในพื้นที่ เป็นพี่เลี้ยงประสานหน่วยงานต่าง ให้ความรู้การทำเกษตรสมัยใหม่ตามความถนัดและสนใจ สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ โดยสหกรณ์ได้หาตลาดรับซื้อผลผลิตทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ สำหรับสหกรณ์การเกษตรปรางค์กู่ จำกัด ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการ 13 ราย บริหารจัดการผลผลิตภายใต้หลักตลาดนำการผลิต เป็นนโยบายหลักในการผลิตทางการเกษตรให้มีปริมาณสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ผลผลิตหลักของสหกรณ์ฯ คือ ข้าว ซึ่งได้ประสานกับโรงสีเพื่อวางแผนการตลาดการรับซื้อผลผลิตที่แน่นอน เชื่อมโยงเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ในจังหวัดทั้ง 4 แห่ง รวมถึงหน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน ทั้งในและนอกจังหวัด เป็นแหล่งรองรับสินค้า รวมทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตของสหกรณ์มีการเก็บข้อมูลการจำหน่าย เช่น สินค้าที่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภค สินค้าที่ผู้บริโภคแนะนำ แจ้งให้เกษตรกรสมาชิกทราบเพื่อวางแผนการผลิต มีซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ เป็นจุดจำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ สด สะอาด ปลอดภัย ราคาเป็นธรรมในชุมชน โดยซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์การษตรปรางค์กู่ จำกัด จำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย อาทิ ผลผลิตสด สินค้าแปรรูป สินค้าหัตถกรรม จากเกษตรกรสมาชิก ผู้เข้าร่วมโครงการนำหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ และเครือข่ายสหกรณ์ทั้งในและนอกจังหวัด ส่งเสริมการขายโดยการจัดกลุ่มสินค้าเด่น สินค้าขายดี สินค้าปลอดภัย เพื่อกระตุ้นยอดขาย รวมทั้งได้เข้าร่วมโครงการบัตรเกษตรกร และเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรม "ตลาดชุมชน คนสหกรณ์" เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น แนวทางการพัฒนาในอนาคตจะจัดทำข้อมูลผู้ผลิตของสมาชิกให้ครอบคลุมทั้งปี และจัดทำปฏิทินสินค้าเกษตรเพื่อการบริหารจัดการการผลิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สำหรับนิทรรศการเนื่องในคล้ายวันสถาปนา 1 เมษายน นี้ ผลงานสำคัญที่จะจัดแสดงนิทรรศการ อาทิ นิทรรศการนำเสนอการขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model ผลการดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ผลงานของศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agri-tech and Innovation Center หรือ AIC) ซึ่งบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และภาคการเกษตร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเกษตรแปรรูป และการตลาดและการยกระดับมาตรฐานพืชสมุนไพรสู่ความยั่งยืน นิทรรศการเกี่ยวกับทำการเกษตรอย่างยั่งยืน เช่น การผลิตข้าวด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ การพัฒนากุ้งสู่ความยั่งยืน BCG Modelกับการพัฒนากัญชา กัญชง และกระท่อม การเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดของสินค้าโคเนื้อ บ้านแสนแก้ว จ.ศรีสะเกษ และการอนุรักษ์ต่อยอดภูมิปัญญาลวดลายผ้าไหมไทยสู่ความยั่งยืน นำเสนอการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมให้เหมาะสม และนิทรรศการก้าวต่อไปของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ในฝัน เป็นต้น
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการออกบูธแสดง และจำหน่ายสินค้าการเกษตรโดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนำผลผลิตทางการเกษตรที่โดดเด่นของเกษตรกร สมาชิกสหกรณ์จากจังหวัดต่าง ๆ มาให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานได้เลือกชิม เลือกซื้อภายในงาน ทั้งผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปการเกษตรต่าง ๆ อาทิ ผัก ผลไม้ มะม่วงน้ำปลาหวาน ยำมะม่วง ข้าวแต๋น มะพร้าวน้ำหอม กรอบเค็ม แหนมปลาแรด ชุดน้ำพริก น้ำพริกสวรรค์ปูม้า เชียงปลา ปลาดุกเส้นหวาน ปลานวลจันทร์ต้มเค็มปลาดุกสวรรค์ ไส้อั่วปลานิลปลาส้ม ทอดมันปลากรายกล้วยไม้เป็นต้น รวมทั้งมีปลาสวยงามหลากหลายชนิด เช่น ปลากัด ปลาสอดสี แจกจ่ายให้กับผู้ซื้อสินค้าประมงแปรรูปครบตามราคาที่กำหนดด้วย