ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดเชียงราย ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2 มีนาคม 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดเชียงราย ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดเชียงราย ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะผู้บริหารหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายถาพร ณ นคร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายเอนก ชื่นใจ สหกรณ์จังหวัดเชียงราย นายสมบัติ ต๊ะยะ ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรเวียงชัย จำกัด หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ สมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกร ให้การต้อนรับ ณ สหกรณ์การเกษตรเวียงชัย จำกัด (สาขาเวียงเชียงรุ้ง) ตำบลทุ่งก่อ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย
โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พบปะหัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ที่มารอต้อนรับ พร้อมมอบอุปกรณ์การตลาดตามโครงการปรับโครงสร้างการผลิต การตลาดและการแปรรูปของสถาบันเกษตรกรรองรับผลผลิตทางการเกษตร ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ปี 2564 ให้แก่สถาบันเกษตรกรในจังหวัดเชียงราย จำนวน 10 แห่ง มูลค่ามากกว่า 65 ล้านบาท เพื่อบริการให้กับสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ และได้กล่าวชื่นชมสหกรณ์การเกษตรเวียงชัย จำกัด และสหกรณ์ในจังหวัดเชียงรายที่ได้ให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามนโยบายต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนโยบายที่สำคัญของกรมส่งเสริมสหกรณ์ งานเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล อาทิ โครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกร รองรับผลผลิตทางการเกษตร เพื่อยกระดับศักยภาพสถาบันเกษตรกรให้เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร เพื่อสนับสนุนให้ลูกหลานสมาชิกสหกรณ์หรือบุคคลทั่วไปที่จากบ้านไปประกอบอาชีพในต่างจังหวัด กลับมาทำการเกษตรที่บ้านเกิด โดยมีสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่คอยเป็นพี่เลี้ยง ตลอดจนการจัดหาตลาดรองรับอีกด้วย
จากนั้น ได้พบปะเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เช่น ผลิตภัณฑ์จากสับปะรด น้ำสับปะรด คุกกี้สับปะรด สับปะรดอบแห้ง ของนายสอพิญญา ปั้นเกียรติพานิชย์ หนึ่งในเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 มีเกษตรกรรุ่นใหม่ในจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 18 ราย สหกรณ์ในจังหวัดสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 12 แห่ง นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมเยี่ยมชมบูธจัดแสดงสินค้าทางการเกษตรของสหกรณ์กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดเชียงราย อาทิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมมะลิ จากสหกรณ์การเกษตรแม่จัน จำกัด ข้าวหอมมะลิ (ถุงทอง) จากสหกรณ์การเกษตรเชียงแสน จำกัด กาแฟอาราบิก้า จาก สกต.ธกส.เชียงราย จำกัด กาแฟอาราบิก้า จากสหกรณ์การเกษตรศุภนิมิตวาวี จำกัด รวมทั้ง เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์กลุ่มสตรีสหกรณ์ ได้แก่ น้ำพริกหนุ่ม สาหร่าย ยำปลาดุกฟู ไส้อั่ว จากกลุ่มแคบหมูแม่จันทร์สวย และข้าวแต๋น กล้วยเบรคแตก จากกล้วยฉาบกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านกลางเวียง และเยี่ยมชมอุปกรณ์การตลาดที่สหกรณ์ใช้ในการรวบรวมพืชผลการเกษตรจากสมาชิกและเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ อาทิ โกดัง ฉาง และโรงอบลดความชื้น
สหกรณ์การเกษตรเวียงชัย จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตร เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2521 ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 44 ปี ปัจจุบันมีสมาชิก 6,333 ราย มีทุนการดำเนินงานมากกว่า 645 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจ 4 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจเงินรับฝาก ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจสินเชื่อ และธุรกิจรวบรวม ซึ่งในปีการผลิตที่ 64/65 สหกรณ์รวบรวมข้าวจากสมาชิก 2,649 ตัน คิดเป็นมูลค่า 25,158,526 บาท และในปีการผลิต 65/66 หากอุปกรณ์การตลาดที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ สหกรณ์มีแผนการรวบรวมข้าวจากสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ 17,500 ตัน แบ่งเป็นข้าวนาปรัง 5,000 ตัน และข้าวนาปี 12,500 ตัน ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการแนะนำส่งเสริมกิจการงานของสหกรณ์มาตั้งแต่ต้น และยังได้สนับสนุนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 (งบกลางปี) ในการจัดหาอุปกรณ์การตลาดที่จำเป็นในการรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ฉาง ขนาด 2,000 ตัน จำนวน 1 แห่ง และงบประมาณโครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกรเพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตร ปี 2564 ในการจัดซื้อเครื่องอบลดความชื้น 300 ตัน/วัน จำนวน 1 แห่ง ก่อสร้างโกดัง ขนาด 5,000 ตัน จำนวน 1 แห่ง และลานตาก 1,600 ตรม. จำนวน 1 แห่ง รวมมูลค่ามากกว่า 65 ล้านบาท หากสหกรณ์ได้ใช้ประโยชน์อุปกรณ์การตลาด เต็มประสิทธิภาพในการรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป และเป็นแก้มลิงชะลอผลผลิตทางการเกษตรที่ล้นตลาด ตอบสนองความต้องการของสมาชิกสหกรณ์ให้สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกและเกษตรกรอีกด้วย