พิธีเปิดพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนานโยบายการบริหารจัดการที่ดินของประเทศไทย
11 กุมภาพันธ์ 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนานโยบายการบริหารจัดการที่ดินของประเทศไทย และเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.)
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนานโยบายการบริหารจัดการที่ดินของประเทศไทย และเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครบรอบ 1 ปี โดยมี นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าร่วมพิธีเปิด และร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ พร้อมด้วย นายบรรจง ชัยขุนพล ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบสนับสนุนการสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
โอกาสนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ซึ่ง สคทช.จะขับเคลื่อนการดำเนินงานกับหน่วยงานต่าง ๆ บริหารจัดการที่ดินของประเทศ ได้แก่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมป่าไม้ กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ตินเพื่อเกษตรกรรม กรมพัฒนาที่ดิน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เพื่อร่วมกันสร้างพลังในการขับเคลื่อนภารกิจไปสู่ความสำเร็จอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรตินของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทำให้ประเทศมีการพัฒนาบนรากฐานการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ภายใต้การดำเนินงานตามนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศตามที่ คทช.ให้ความเห็นชอบ
จากนั้น รองนายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลผลิตทางการเกษตรของสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ อาทิ ผักพื้นเมือง พืชผักปลอดภัย สินค้าทางการเกษตรแปรรูป ซึ่งสมาชิกสหกรณ์มีอาชีพผลิตผักพื้นเมือง พืชผักปลอดภัย ซึ่งชุมชนได้เห็นคุณประโยชน์รวมทั้งมูลค่าของพืชผักปลอดภัย จึงได้ร่วมกันผลิตสินค้ามาตรฐาน ภายใต้แบรนด์ “แม่ทา ออร์แกนิค” จำหน่ายในชุมชนเมือง ได้แก่ ตลาดพืชผักอินทรีย์เชียงใหม่ ตลาดจริงใจมาร์เก็ต ต่อมาได้มีการพัฒนาสินค้าเข้าสู่ห้างโมเดิร์นเทรด โดยใช้ระบบ “ตลาดนำการผลิต” มาวางแผนการผลิตให้กับสมาชิก ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิก 697 ราย เป็นผู้ได้รับจัดสรรที่ดิน คทช. 265 ราย สหกรณ์ได้รับความช่วยเหลือจากรมส่งเสริมสหกรณ์ ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สหกรณ์สามารถปรับปรุงมาตรฐานการผลิต และขยายตลาดเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยนับตั้งแต่สหกรณ์เข้าร่วมโครงการ เป็นระยะเวลา 6 ปี สามารถสร้างรายได้สู่ชุมชนโดยเฉพาะด้านการเกษตรอินทรีย์ มากกว่า 9 ล้านบาท
รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เล็งเห็นความสำคัญของความเตือดร้อนของพี่ประชาชนที่เกิดจากปัญหาดังกล่าว จึงได้กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ "คทช."เพื่อนโยบายที่สำคัญในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและเร่งรัดให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ผ่านการดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ เพื่อแก้ไขที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของพี่น้องเกษตรกร รวมถึงป้องกันการเปลี่ยนมือไปอยู่ในความครอบครองเกษตรกร โดยการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนได้ประสบความสำเร็จและก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 จนกำหนดพื้นที่เป้าหมายไปแล้ว 1,942 พื้นที่ คิดเป็นเนื้อที่ 5,566,576 - 3 - 31.09 ไร่ ครอบคลุม 70 จังหวัดทั่วประเทศจัดให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่แล้ว จำนวนกว่า 70,000 คน รวมทั้งการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการดำเนินงานของทุกภาคส่วน มุ่งสู่เอกภาพการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรตินอย่างสมดุลและยั่งยืนในอนาคต คทช. ได้กำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ.2566 - 2580) เพื่อใช้เป็นนโยบายในระยะ 15 ปี ที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ และแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยระบบเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ประกอบด้วย ประเด็นนโยบายหลัก 4 ด้าน ได้แก่ การสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ และการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ การใช้ที่ดินและทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และการบูรณาการและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างมีเอกภาพ