ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการการจัดการหลังเก็บเกี่ยวและการพัฒนาฐานชุมชนสำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน (กาแฟอะราบิกา)
21 ธันวาคม 2564 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วย Mr.Takahiro Morita Chief Representative of JICA Mr.Hanazawa Takafumi ผู้แทนประจำประเทศไทย เจ้าหน้าที่ JICA และคณะ
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วย Mr.Takahiro Morita Chief Representative of JICA Mr.Hanazawa Takafumi ผู้แทนประจำประเทศไทย เจ้าหน้าที่ JICA และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการการจัดการหลังเก็บเกี่ยวและการพัฒนาฐานชุมชนสำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน (กาแฟอะราบิกา) ณ สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนาจำกัด อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายสุริยะ คำปวง สหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ Mr.Masahiro Okada ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) นายศรีนวล ไทยตัน ประธานกรรมการ นายประหยัด เสนน้อย ผู้จัดการสหกรณ์ บุคลากรสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ สมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกร ให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ Mr.Takahiro Morita Chief Representative of JICA Mr.Hanazawa Takafumi ผู้แทนประจำประเทศไทย นางสาวเจษฎาภรณ์ สถาปัตยานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิเทศสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่ JICA และคณะลงพื้นที่แปลงปลูกกาแฟของ นายอานนท์ พวงเสน สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเยี่ยมชมกระบวนการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปกาแฟของสมาชิก ซึ่งนายอานนท์ พวงเสน อายุ 38 ปี เกษตรกรรุ่นใหม่ทายาทสมาชิกสหกรณ์ฯ เป็นผู้ปลูกกาแฟอาราบิกา ในพื้นที่ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด สืบทอดอาชีพการปลูกกาแฟจากบิดา ที่ทำมานานกว่า 40 ปี บนพื้นที่ 30 ไร่ โดยสหกรณ์ได้เข้าไปส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ ด้านวิธีการปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยว และปัจจัยการผลิต รวมทั้งได้รับการพัฒนาองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นมาโดยตลอด ที่ผ่านมา ต้นกาแฟให้ผลผลิตเฉลี่ย 2 - 3 ตันต่อปี มีรายได้ประมาณ 2 - 3 แสนบาท/ปี ซึ่งสหกรณ์เป็นตลาดหลักในการรับซื้อผลผลิต ในอนาคตมีความตั้งใจจะเก็บรักษาสายพันธุ์กาแฟให้อยู่คู่กับชุมชน รวมทั้งจะพัฒนากาแฟของดอยสะเก็ดให้มีคุณภาพต่อไป ทั้งนี้ ในการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ปี 2564 นายอานนท์ พวงเสน ได้รับรางวัลประกาศนียบัตรเหรียญทองแดง ประเภทคุณภาพกาแฟระดับดีมาก (very good) กาแฟอะราบิกา กระบวนการแปรรูปด้วยวิธีเปียก (wet process) คะแนนการชิม (cupping score) 83.03 รวมทั้งมีแบรนด์กาแฟ “DOI PANG BONG” เป็นของตนเองด้วย
จากนั้น อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประชุมร่วมกับหัวหน้าผู้แทนสำนักงาน JICA ประเทศไทย กรรมการสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการฯ รับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด และร่วมกันกำหนดแผนการพัฒนาด้านการตลาดกาแฟของสหกรณ์ แนะนำแนวทางในการดำเนินธุรกิจ โดยให้สหกรณ์นำกาแฟที่รวบรวมจากสมาชิกมาพัฒนาให้มีคุณภาพ และต่อยอดผลิตภัณฑ์ สร้างรสชาติที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม สามารถจำหน่ายออกสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ในยุคปัจจุบัน โอกาสทางการตลาดธุรกิจกาแฟยังมีลู่ทางที่สดใสมากขึ้น พร้อมทั้งเยี่ยมชมกระบวนการแปรรูปกาแฟเชอร์รี่ และการคั่วกาแฟของสหกรณ์ฯ อีกด้วย
ปัจจุบันสหกรณ์ฯ กำหนดราคารับซื้อกาแฟกะลาของสมาชิกแบบขั้นบันได โดยใช้คุณภาพเป็นตัวกำหนดราคากาแฟกะลาที่รับซื้อเพื่อเป็นการพัฒนาและรักษามาตรฐาน ในฤดูกาลผลิต 2563/64 สมาชิกทั่วไปและสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ สหกรณ์ฯ รับซื้อที่ราคา 110 บาท/กก. สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ และกาแฟกะลามีลักษณะทางกายภาพของกาแฟกะลาผ่าน (Defect น้อยกว่า 7%) และส่วนที่ลักษณะทางกายภาพของกาแฟสาร (คะแนน Defect น้อยกว่า 5) จะเพิ่มราคาให้อีก 2 บาท (112 บาท/กก.) และรสชาติ (คะแนนคัพปิ้ง ตามขั้นตอนการประเมิน Cup of Excellence สูงกว่า 80 คะแนน) จะเพิ่มราคาให้อีก 1 บาท (115 บาท/กก.) ต่อมาได้มีการพัฒนากาแฟ Single Origin และการพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับ สหกรณ์ฯได้เริ่มทดลองทำการตลาด ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก เนื่องจากการทำ Single Origin ทำได้น้อยและยากสำหรับกาแฟทั่วไป สหกรณ์ได้จัดทำบรรจุภัณฑ์แยกเฉพาะรายคน แสดงรายละเอียดพื้นที่ความสูง และลักษณะเด่นของกาแฟของแต่ละคน โดยในปี 2563 มีสมาชิกสหกรณ์ที่สามารถพัฒนากาแฟ Single Origin จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายอนันต์ พรหมเมตจิต นายประสิทธิ์ ขุ่ยอาภัย และนายเสถียร คำหล้า ทั้งนี้ สหกรณ์มีแผนแปรรูปกาแฟในปี 2564/2565 จะรับซื้อกาแฟเชอรี่ 500 – 800 กก./วัน ดำเนินการแปรรูปเอง ประมาณ 18 ตัน แบ่งตามโปรเซส Honey 50% และ Natural 50% รวมทั้งสหกรณ์จะรับซื้อกะลาจากเกษตรกร 15 ตัน Washed Process 100%
ในปีการผลิต 2563/64 สหกรณ์ฯ ดำเนินการแปรรูปกาแฟเชอร์รี่เอง ซึ่งสหกรณ์ได้รับการสนับสนุนเครื่องกะเทาะกาแฟเชอรี่ และเครื่องคั่วกาแฟจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ และได้เริ่มทดลองรวบรวมกาแฟเชอร์รี่นำมาแปรรูปเองทั้งกระบวนการเพื่อพัฒนากระบวนการแปรรูปกาแฟของสหกรณ์ให้มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งสหกรณ์ได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น ในการแปรรูปกาแฟฮันนี่ โดยผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นได้ให้คำแนะนำแก่สมาชิกสหกรณ์อย่างใกล้ชิด ทำให้มีความเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์กาแฟของสหกรณ์จะมีคุณภาพและมีรสชาติที่ดีเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค นอกจากนี้ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ยังได้ประสานงานกับกรมวิชาการเกษตร และผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ทำการฝึกอบรมให้ความรู้แก่สหกรณ์ในการแปรรูปกาแฟ การพัฒนาการแปรรูปเบื้องต้นของสมาชิก รวมทั้งได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่พัฒนาคุณภาพกาแฟ ทำให้สมาชิกสหกรณ์ได้รับการพัฒนาตลอดกระบวนการผลิตและการแปรรูปสามารถยกระดับการดำเนินธุรกิจกาแฟให้มีอัตลักษณ์เป็นกาแฟคุณภาพพิเศษของสหกรณ์ จำหน่ายภายใต้แบรนด์ “ดอยสะเก็ดคอฟฟี่กรีน - Doisaket coffee green”
ทั้งนี้ สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2518 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 3,064 คน มีทุนดำเนินงานมากกว่า 220 ล้านบาท สหกรณ์ได้ดำเนินธุรกิจด้านสินเชื่อ การรับฝากเงิน จัดหาสินค้ามาจำหน่าย รวบรวมผลผลิต สหกรณ์รับซื้อกาแฟกะลา และกาแฟเชอรี่จากสมาชิก แปรรูปผลผลิต กาแฟสาร กาแฟคั่วเมล็ด และกาแฟคั่วบด ผลกำไรจะมีการจัดสรรปันผลเฉลี่ยคืนแก่สมาชิกเมื่อถึงสิ้นปี และมุ่งมั่นสร้างประโยชน์ให้สมาชิกได้อยู่ดีกินดีในที่สุด