พิธีเปิดอาคารจำหน่ายผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ ของสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด
8 ธันวาคม 2564 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารจำหน่ายผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ ของสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์)
พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารจำหน่ายผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ ของสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) โดยมี นายปรีชา พันธุ์วา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายสมศักดิ์ กรีธาธร ผู้ตรวจราชการกรม เขตตรวจราชการที่ 2,3,4 นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายยุทธนา แก้วน้อย สหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี นางสำเนา เกาะเกตุ ประธานสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ผู้แทนโครงการตามพระราชประสงค์ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และผู้ที่อยู่อาศัยทำกินในโครงการฯ ให้การต้อนรับ ณ สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
โอกาสนี้ องคมนตรี ได้เยี่ยมชมอาคารจำหน่ายผลิตภัณฑ์ป่านศวรนารายณ์ ซึ่งสินค้าที่นำมาจัดจำหน่ายมีทั้งหมวก กระเป๋า รองเท้า ที่รองแก้ว เข็มขัด ทั้งนี้ “ผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์” เป็นอาชีพพระราชทานตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งทรงส่งเสริมอาชีพให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านหุบกะพงได้ทดลองนำเส้นป่านศรนารายณ์ ซึ่งเป็นพืชในท้องถิ่นที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติจำนวนมาก นำมาเป็นวัตถุดิบ และสร้างสรรค์ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว และต่อมาได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และมีความประณีตจนสามารถสร้างชื่อเสียงด้านหัตถกรรมไทยให้กับกลุ่มสตรีศิลปาชีพพิเศษป่านศรนารายณ์สหกรณ์หุบกะพง กลายเป็นที่รู้จักและเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จักสานจาก “ป่านศรนารายณ์”จวบจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ กลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้และสร้างชื่อเสียงให้กับชาวหุบกะพงต่อเนื่องมายาวนานเกือบ 50 ปี และได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์ให้มีรูปแบบ สีสันที่ทันสมัย จนเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับงานศิลปาชีพ(พิเศษ) จักสานป่านศรนารายณ์ของกลุ่มสตรีสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เข้าไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นธุรกิจรวบรวมผลผลิตของสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง ปัจจุบันมีการส่งเสริมพัฒนาด้านการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ในโครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพง เช่น ป่านศรนารายณ์ โดยการปลูกในแปลงทดลอง เนื้อที่ 500 ไร่และในพื้นที่ของเกษตรกร/สมาชิก ในโครงการฯ แปรรูปโดย สมาชิกกลุ่มสตรีศิลปาชีพ (พิเศษ) ป่านศรนารายณ์ จัดจำหน่าย ณ ศูนย์จำหน่ายสินค้าในโครงการฯ และศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง และร้านต่างๆ รวมทั้ง จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์
สำหรับสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เป็นสหกรณ์ที่ก่อตั้งขึ้นในหมู่บ้านหุบกะพง จดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2514 ซึ่งได้รับพระราชทาน ใบทะเบียนสหกรณ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2519 ปัจจุบันมีสมาชิก 686 ราย มีทุนดำเนินงานมากกว่า 10 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจหลัก 5 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจให้สินเชื่อแก่สมาชิก ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจรวบรวมผลผลิต และธุรกิจให้บริการและส่งเสริมการเกษตร สหกรณ์ฯ ได้มีการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพที่อยู่ภายใต้สังกัดสหกรณ์ ประกอบด้วย 1.กลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัยบ้านหุบกะพง 2.กลุ่มสตรีศิลปาชีพ (พิเศษ) ป่านศรนารายณ์ 3.กลุ่มสตรีผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน 4.กลุ่มผู้เลี้ยงโคขุน หมู่ที่ 8 บ้านหุบกะพง 5.กลุ่มผู้เลี้ยงโคขุน หมู่ที่ 10 บ้านหุบกะพงพัฒนา 6.กลุ่มผู้เลี้ยงแพะบ้านหุบกะพง 7.กลุ่มผู้ผลิตน้ำส้มควันไม้ 8. กลุ่มผู้ปลูกผักวิถีอินทรีย์บ้านหุบกะพง (ไฮโดรโปรนิกส์) 9.กลุ่มแม่บ้านหุบกะพง (สาขาทำขนม) และ 10.กลุ่มสตรีสาขาแปรรูปน้ำผลไม้ ปัจจุบันได้ปรับปรุงใหม่เพื่อให้เหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจ และการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ผู้สนใจในผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท อิเควเตอร์ โซลาร์ จำกัด ภายใต้เงื่อนไขการได้รับอนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดินของโครงการฯ ประกอบด้วย อาคารจำหน่ายผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ การพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณลานหน้าพลับพลาที่ประทับ ตลาดชุมชนหุบกะพง ศูนย์เรียนรู้ป่านศรนารายณ์ ห้องสุขา อีกทั้ง ได้วางแผนการติดตั้งระบบพลังงานทดแทน (โซลาเซลล์) และ สนับสนุนงบประมาณเพื่อกองทุนพัฒนาธุรกิจสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด สำหรับการพัฒนาซ่อมบำรุงรักษา
จากนั้น องคมนตรี เดินทางไปยังโรงเรียนบ้านหุบกะพง ซึ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่โครงการพระราชประสงค์หุบกะพง เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงาน และได้กล่าวกับคณะครูของโรงเรียนถึงแนวทางในการจัดการเรียนการจัดสอนของโรงเรียน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด - 19)