พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการรับซื้อข้าว ภายใต้โครงการจับคู่ช่วย “หมู – ข้าว” ปีการผลิต 2564/65
25 พฤศจิกายน 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการรับซื้อข้าว ภายใต้โครงการจับคู่ช่วย “หมู – ข้าว” ปีการผลิต 2564/65
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการรับซื้อข้าว ภายใต้โครงการจับคู่ช่วย “หมู – ข้าว” ปีการผลิต 2564/65 ระหว่างสหกรณ์การเกษตร ผู้ประกอบการโรงสีข้าว และผู้รวบรวมข้าว สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยมี นายปรีชา พันธุ์วา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมในพิธี ณ ห้องประชุมบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
สำหรับโครงการพาณิชย์จับคู่ช่วย “หมู - ข้าว” ปีการผลิต 2564/65 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยระบายข้าวเปลือกข้าวสารคุณภาพอาหารสัตว์ของโรงสีหรือสหกรณ์ที่รับซื้อ และลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ของสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร และโรงงานอาหารสัตว์ โดยมีผู้ซื้อ 5 ราย ได้แก่ บริษัท ไทยฟู้ดส์ อาหารสัตว์ จำกัด บริษัท ไทยรุ่งกิจการ จำกัด บริษัท อาร์ เอ็ม ซี ฟาร์ม จำกัด บริษัท ฟาร์มจงเจริญ จำกัด และบริษัท เกษมชัยฟาร์มอาหารสัตว์ จำกัด มีการซื้อข้าว 2 ประเภท คือ ข้าวเปลือก (ความชื้นไม่เกิน 15%) ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท และข้าวกล้อง ข้าวสาร ข้าวหัก และปลายข้าว ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 11 บาท และผู้ขาย 12 ราย แบ่งเป็น สหกรณ์ 4 ราย ปริมาณ 699 ตัน ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรศุภนิมิตรหนองยายดา จำกัด สหกรณ์การเกษตรสว่างอารมณ์ จำกัด สหกรณ์การเกษตรกระสัง จำกัด ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรบุรีรัมย์ จำกัด และโรงสี 8 ราย ปริมาณ 49,500 ตัน ได้แก่ โรงสีไทยวัฒนารุ่งเรืองธัญกิจ โรงสีเฮงเพิ่มพูน โรงสีพูนสินไทย โรงสีสหพัฒนาข้าวพุทไธสง โรงสีเจริญกิจพูนผล โรงสีกิจเจริญชัยรุ่งเรือง โรงสีนพก้าวการค้า และโรงสีโชคถาวร ขณะนี้มีการจับคู่ ระหว่างผู้ซื้อ - ผู้ขายแล้ว ประมาณ 271,000 ตัน ส่งมอบไปแล้วประมาณ 134,000 ตัน
อย่างไรก็ตาม การลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการจับคู่ช่วย “หมู – ข้าว” ครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาทำหน้าที่ในการดูแลภาคการเกษตรอย่างบูรณาการที่เป็นรูปธรรม มีผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นเห็นได้จริง โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือการที่จะเข้าไปดูแล ยกระดับราคาข้าวให้สูงขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ขณะเดียวกันก็จะเข้าไปช่วยดูแลเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพปศุสัตว์ในการเลี้ยงสุกรให้สามารถลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะในเรื่องของอาหารสัตว์ให้ลดลง โครงการนี้ถือได้ว่าเป็นโครงการตัวอย่างที่เห็นผลเป็นรูปธรรมที่สุด เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งนำข้าวมาขาย ทำอาหารสัตว์ ในราคาที่เป็นธรรม ราคาดีกว่าการเอาไปขายในตลาดปกติ อีกฝ่ายหนึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรก็สามารถนำข้าวคุณภาพ หรืออาหารสัตว์ราคาพิเศษ นำมาใช้ในการทำอาหารสุกร เพื่อลดต้นทุนในการเลี้ยงสุกร โครงการนี้จึงเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือในการช่วยดำเนินการของกรมการค้าภายใน เพื่อที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ขายข้าวในราคาถูกลง และต้นทุนในการผลิตอีกด้วย